Sanook เป็นเว็บ Portal หรือแปลง่ายๆ ว่าเว็บท่า ที่รวมคอนเทนต์ทุกส่ิงอย่างไว้เพื่อให้เราเข้ามาเสพได้ในที่เดียว ถือเป็นหนึ่งในเว็บแรกๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย และวันนี้อย่างที่หลายคนอาจจะรู้แล้วว่า Sanook อยู่ภายใต้อาณาจักรของ Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีน เจ้าของ WeChat, เกม ROV และอีกสารพัดบริการระดับโลก
คำถามคือ Sanook ในปีนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อผันตัวเองจากบริษัทกลายเป็นยูนิตหนึ่งใน Tencent และตัว Tencent เองในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป คนที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดคือ กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด
ย้อนภาพอดีตธุรกิจจาก Sanook ถึง Tencent
กฤตธี บอกว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2010 ที่เข้ามาทำงาน เป้าหมายแรกคือการทำให้ Sanook รักษาความเป็นเว็บอันดับ 1 ในประเทศไทย และไม่นานนัก ได้แยกธุรกิจด้านการขาย หรือที่เรียกว่า dealfish ออกไป ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น OLX และกลายเป็น Kaidee ในปัจจุบัน (อยู่ภายใต้การบริหารของ ทิวา ยอร์ค)
แนวทางนี้ทำให้โฟกัสของ Sanook อยู่ที่การสร้างสรรค์คอนเทนต์เป็นหลักชัดเจน และเร่ิมขยายมิติของคอนเทนต์ให้หลากหลายมากขึ้น ตอบกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ มีการปรับโครงสร้างภายในหลายครั้งเพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ และนำเทคโนโลยีจาก Tencent เข้ามาต่อยอดบริการใหม่ๆ
2016 เกิดบริการ JOOX แพลตฟอร์มฟังเพลง ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ 70 ล้านดาวน์โหลด เป็นบริการเพลงที่มีเพลงไทยเยอะที่สุดในเวลานี้ และปัจจุบัน 2019 มีบริการใหม่เกิดขึ้นคือ WeTV และ Tencent Cloud Thailand
เปิดยุคใหม่ด้วยบริการที่หลากหลาย ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Tencent
จุดเริ่มต้นยุคใหม่ของ Tencent ในไทย 2017 พัฒนาธุรกิจมีเดียใหม่ Tencent Social Ads หรือ TSA ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถซื้อโฆษณาบน WeChat ในประเทศจีนได้ ช่วยให้ธุรกิจและแบรนด์สินค้าจากไทย สามารถเข้าไปทำตลาดในจีนได้ง่ายกว่าเดิม
การใช้ TSA คือการโฟกัสเป้าหมายไปที่คนจีนที่จะมาไทยโดยเฉพาะ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน โดยที่ไทย ถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่คนจีนนิยม โดยอีก 2 ประเทศคือ ญี่ปุ่นแลเกาหลี
นี่คือส่ิงที่แสดงให้เห็นว่า หัวใจของความเป็น Sanook ที่ทำเพื่อคนไทยยังมีอยู่เช่นเดิม
2018 เริ่มนำธุรกิจเกมเข้ามาในไทย เช่น PUBG เกมคอมพิวเตอร์และมือถือที่มีคนเล่นจำนวนมาก และถือเป็นปีแรกที่บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น Tencent เต็มตัว
“ช่วงแรกชื่อ Tencent ยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนไทย การใช้ Sanook ในการขยายธุรกิจ เปิดบริการใหม่ๆ ยังจำเป็น แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง Tencent เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้คนไทยหลายคนอยากมาทำงานที่นี่”
แม้ชื่อ Tencent แต่ DNA ของความ Sanook ยังคงอยู่
กฤตธี บอกว่า ตอนนี้บริษัทเริ่มมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น มีคนทำงาน 7-8 ชาติ รวมแล้วประมาณ 250 คนผสมผสานกัน ยิ่งดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากมาทำงานกับ Tencent มากขึ้น ได้เรียนรู้ความแตกต่าง ได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา
แต่ส่ิงที่ยังคงรักษาไว้ได้อย่างดี คือ DNA ความเป็น Sanook ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้สะท้อนมาจากในตัวกฤตธี ที่ดูสนุกสนานกับงานแต่มีความจริงจัง ที่สำคัญคือ สามารถพัฒนาบริการที่เข้าใจคนไทยได้เป็นอย่างดี
“การทำงาน และเทคโนโลยีที่นี่มีความ Global แต่บริการและคอนเทนต์ มีความ Local สูงมาก มีความเข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริง แพลตฟอร์ม การใช้งาน ต้องสอดคล้องกับสไตล์ของคนไทย ที่เห็นชัดที่สุดคือ JOOX ที่มี Playlist ที่เข้าใจคนไทยมากที่สุด”
ขณะที่การทำงานแบบ Tencent นอกจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้แล้ว ส่วนสำคัญคือการใช้ Data เข้ามาช่วย และต้องมีการวัดผลที่เป็นรูปธรรมด้วย
2019 เปิดบริการใหม่
เมื่อฐานแน่น บุคลากรพร้อม บริการที่มีอยู่เดิมทำได้ดีแล้ว ปีนี้จึงเป็นปีที่ Tencent จะรุกเปิดบริการใหม่เพิ่มขึ้น เร่ิมต้นด้วยบริการ Tencent Cloud Thailand และนั่นเป็นการเปิดธุรกิจ B2B ของ Tencent ในไทย (เดิมเป็น B2C ทั้งหมด) ด้วยการให้บริการ Cloud จากเทคโนโลยีของ Tencent โดยจับมือกับ True IDC ให้บริการ Local Cloud ในไทยเองเลย
บริการที่เปิดตัวล่าสุดคือ WeTV เป็นบริการ Streaming Video on demand หลังจากมีคอนเทนต์ด้านเพลง (JOOX) ก็ต้องมีคอนเทนต์หนังต่อ ซึ่งจะมีหนังจีน เกาหลี อเมริกา ไทย และอื่นๆ ถ้าเทียบกับของ Tencent จะใช้ชื่อบริการว่า Tencent Video
กฤตธี บอกว่า ตลาดไทยถือว่าไม่เล็กไม่ใหญ่จึงเหมาะกับการเริ่มต้นทำตลาดบริการต่างๆ ซึ่งส่วนที่สำคัญคือ คนไทยมีกำลังจ่าย เล่นเกม, ดูหนัง, ฟังเพลง พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้บริการที่มีคุณภาพ นี่คือส่ิงที่ Tencent เห็นว่าเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างชัดเจน
WeTV วิดีโอสตรีมมิ่งผ่านเว็บและแอพ
Tencent ได้จับมือกับพันธมิตรนำคอนเทนต์คุณภาพระดับโลกจาก เทนเซ็นต์ เพนกวิน พิคเจอร์ส ผู้ผลิตคอนเทนต์อันดับหนึ่งของประเทศจีน และจับมือกับพันธมิตรอันดับหนึ่งในไทยทั้งช่อง One31 ค่าย GDH และ Insight Technology เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ภายในประเทศ และบุกตลาดจีน ตั้งเป้าขึ้นเป็นแพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่งที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด 3 อันดับแรกภายในปีนี้
กฤตธี บอกว่า Tencent เชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์มความบันเทิงอยู่แล้ว การเปิดตัว WeTV ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่ง เพราะเห็นเทรนด์การเติบโตของทั้งโลกที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 25% ของทั้งโลกก็ใช้งานวีดีโอสตรีมมิ่ง หรือแม้กระทั่งคนไทยเองที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละกว่า 9 ชั่วโมง ก็ใช้เพื่อการดูวีดีโอหรือทีวีออนไลน์มากกว่า 35%
จากการทดลองเปิดให้บริการ ผู้ใช้งาน WeTV ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 84 นาที แบ่งเป็นเพศหญิงกว่า 85% และเพศชาย 15% ผู้ใช้งานส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุเฉลี่ยที่ 18-34 ปี โดยคอนเทนต์ยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่
- ซีรี่ย์รักโรแมนติค คอมเมดี้
- ซีรี่ย์ดราม่าย้อนยุค
- ซีรี่ย์แนวแอคชั่น แฟนตาซี
ซีรีส์จีน ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย WeTV จะทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมีแผนจะผลิตคอนเทนต์กับพันธมิตรในประเทศ เพื่อนำเสนอบน WeTV โดยเฉพาะ และจะส่งออกไปจีนด้วย ตั้งเป้าหมายของการผลิตคอนเทนต์ในประเทศไทย 2 เรื่องต่อไตรมาส
2020 ก้าวสู่ Tencent SEAsia
2 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้ชื่อ เทนเซนต์ ประเทศไทย อย่างเต็มตัวแล้ว แน่นอนอนาคตจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ แต่จะต้องก้าวไปสู่ความเป็น Tencent SEAsia ใช้แนวทาง Think Local Act Global ใช้ประเทศไทยเป็นฐานลุยตลาดภูมิาภค เช่น พม่า, อินโดนีเซีย ฯลฯ
ส่วน Sanook จะพัฒนาตัวเองไปสู่แอพพลิเคชั่น ที่มี AI เข้ามาร่วมทำงาน เพื่อให้นำเสนอคอนเทนต์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายรายบุคคลได้มากขึ้นกว่าเดิม และผสานกับ Newsup ที่เว็บรวมคอนเทนต์สำหรับเด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
โดยสรุปแล้ว Tencent จะแบ่งธุรกิจเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- News and Portal – Sanook และ Newsup
- Entertainment – JOOX, Tencent Game, WeTV
- Services – WeChat Pay, TSA, Tencent Cloud, TopSpace
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา