ปิดฉาก “Sanook Online” เปิดตัว “Tencent ประเทศไทย” อย่างเป็นทางการ

เปิดหัวมาแรงๆ ว่าปิดฉาก Sanook Online แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการปิดบริษัทแต่อย่างใด แต่คือการ “เปลี่ยนแปลง” ครั้งสำคัญของสื่อออนไลน์ไทยอย่าง Sanook Online (สนุก ออนไลน์) จากบริษัทอินเทอร์เน็ตรายแรกๆ ของไทย กลายเป็น บริษัท เทนเซ็น (ประเทศไทย) จำกัด อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2559

จากนี้ Sanook Online จะเป็นชื่อของหนึ่งในธุรกิจหลักด้านคอนเทนต์ของ Tencent เท่านั้น ซึ่ง กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ Tencent ประเทศไทย บอกว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เป็นการเสริมศักยภาพธุรกิจในไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่ทีมงานภายในยังคงเป็นทีมงานชุดเดิม เน้นการสร้างสรรค์และพัฒนาบริการให้กับผู้บริโภคเช่นเดิม

สำหรับใครที่อยากรู้จัก Tencent ให้มากขึ้น Brand Inside ได้แนะนำบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนไปแล้ว อ่านได้ทีนี่

แล้วอะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปในไทยครั้งนี้ ?

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ Tencent ประเทศไทย

ตอกย้ำ Content and Services Platforms เต็มรูปแบบ

เดิมภาพของ Sanook Online เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีบริการต่างๆ อยู่บนเว็บไซต์ แต่ปัจจุบันมีบริการที่หลากหลายมากขึ้นและอยู่บนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ดังนั้นนอกจากการเปลี่ยนชื่อเป็น Tencent แล้ว ยังจัดแบ่งกลุ่มธุรกิจภายในให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สร้างความชัดเจนให้กับผู้บริโภค โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก

1. News & Portal ประกอบด้วย

● บริการ ข้อมูล ข่าวสาร สาระ บันเทิง บนเว็บไซต์ www.sanook.com ให้บริการมา 18 ปี มีการพัฒนาจากเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์มาสู่บนอุปกรณ์พกพา และ Sanook! แอปพลิเคชั่น ที่สามารถดาวน์โหลดผ่าน App Store และ Play Store

NoozUp (อ่านว่า นิวส์อัพ) โมบายแอปพลิเคชั่นเกาะกระแส ข้อมูล ข่าวสาร สำหรับกลุ่มคนเมือง คนรุ่นใหม่ (FOMO – Fear Of Missiong Out) คนที่เชื่อมต่อกับสังคมอยู่ตลอด เป็นบริการใหม่ที่จะเปิดให้บริการไตรมาส 1 ปี 2560

2. Entertainment & Multimedia Platforms

● บริการเพลงออนไลน์ฟังผ่าน JOOX มิวสิคแอปพลิเคชั่น รวบรวมเพลงลิขสิทธิ์จากค่ายเพลงหลักทั่วโลก และค่ายเพลงของไทย โดย JOOX เปิดให้บริการในไทยมา 1 ปีแล้ว ที่มียอดดาวน์โหลดกว่า 22 ล้านดาวน์โหลด มีฟีเจอร์ใหม่ V Station นำเสนอคอนเสิร์ตและรายการพิเศษ เป็นการชมการแสดงภาพและเสียง

● บริการเกมมือถือ ซึ่งได้รับการตอบรับดี ปัจจุบันเกม Ultimate Legends ติดอันดับ 1 ในหมวดรวมบน App Store และติดท็อป 100 ในหมวดเกมส์

3. Services

บริการด้านดิจิทัล เซอร์วิส เอเจนซี่แบบครบวงจรจาก Topspace ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมกว่า 12 ปี โดย Topspace มีการขยายบริการให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์และบริการของ Tencent เช่น ลูกค้าของ Topspace สามารถสร้าง WeChat Official Account และซื้อสื่อใน WeChat ที่แม้ในไทยจะไม่ประสบความสำเร็จด้านจำนวนผู้ใช้ แต่ WeChat มีจุดแข็งคือฐานผู้ใช้ชาวจีน ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องการขยายไปจีนและสื่อสารกับผู้บริโภคชาวจีน (รวมถึงคนไทยในจีน) นี่คือเครื่องมือที่ทรงพลัง

เตรียมพร้อมธุรกิจสู่ปี 2017 ดิจิทัลให้มากขึ้น

Tencent ในปี 2017 มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรุกธุรกิจดิจิทัลมากขึ้นกว่าเดิม อันดับแรกคือ NoozUp แอปรวมข่าวสารจากพันธมิตรที่จะ feed มาให้กับคนอ่าน ซึ่งเน้นจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า App First คือ ไม่ใช่แค่ Mobile First อีกแล้ว ถือเป็นบริการแรกที่จะเปิดตัวช่วงไตรมาส 1 ปี 2017 ซึ่งอยู่ในหมวดของ News & Portal จะทำให้ฐานสมาชิกของ Tencent ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

รวมถึงการเปิดบริการประเภท “ดู” หรือ video content ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่า video content ได้กลายเป็นสื่อหลักที่คนนิยมบริโภคไปแล้ว เพราะสามารถดูได้ตลอดเวลาที่ต้องการ มีการอัพเดทเนื้อหาได้ทันต่อสถานการณ์ จะเป็นบริการใหม่ที่เปิดตัวในปีหน้า

ส่วนการรุกตลาดต่างประเทศ Tencent ประเทศไทย จะดูแลประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ โดยประเทศลาว คือเป้าหมายแรกที่เปิดตลาดไปแล้วกับ โดยจับมือ BizGital เปิดเว็บไซต์ “Sanook! ม่วน” ซึ่งลาว เป็นตลาดที่มีการเข้ามาบริโภคคอนเทนต์มากเป็นอันดับ 2 รองจากไทย และหลังจากทำตลาดได้แล้ว ประเทศต่อไปคือ พม่า ที่จะไปบุกตลาด

สรุป

การเปลี่ยนชื่อเป็น Tencent อาจไม่ได้มีผลในทางการทำงาน แต่มีผลในทางภาพลักษณ์อย่างชัดเจนว่า Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว (หลังจากอยู่หลังบ้านมานาน) ไม่ได้ปล่อยให้ Alibaba คู่แข่งอีกรายมาทำตลาดเพียงรายเดียว และทำให้บริการของ Tencent มีความชัดเจนมากขึ้น ตาม 3 แพลตฟอร์มหลัก และให้ Sanook Online กลายเป็นหนึ่งในบริการแทน

เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ปีหน้า Tencent ยังมีการปรับเปลี่ยนอีกเยอะแน่นอน เพราะถ้าดูธุรกิจของ Tencent ในจีนแล้ว ภาษาไทยคงเรียกว่า สากกะเบือยันเรือรบ มากมายครอบคลุมทุกธุรกิจ และถ้าจะพอร์ตบริการเหล่านั้นมาไทยบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะการบุกตลาดอาเซียนโดยใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นก็น่าดึงดูดใจไม่น้อย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา