Freelance ไม่ได้ครองโลก ใครทำงานอิสระโปรดระวัง

ฟรีแลนซ์​ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เป็นชื่อหนัง แต่นี่กำลังกล่าวถึงการทำงานอิสระ หรือ Freelance ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ EIC ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนพูดถึงการทำงานฟรีแลนซ์อยู่ไม่น้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบออนไลน์และแพลตฟอร์มต่างๆ ช่วยให้คนกับงานหากันเจอง่ายขึ้น ช่องทางโซเชียลก็ช่วยในการหารายได้ ทำให้ไม่ต้องยึดติดกับงานประจำ

บวกกับคำโฆษณาเรื่องการมีอิสระ การเป็นเจ้านายตัวเองได้ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่ดูเหมือนผู้คนจะตบเท้าเดินเข้าวงการฟรีแลนซ์กันมากขึ้น จนกลายเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างว่างานอิสระเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่งานนั่งโต๊ะที่เรากำลังทำอยู่ในไม่ช้า

แต่ความจริงแล้ว ชาวฟรีแลนซ์นั้นอาจจะยังไม่ได้ครองโลกอย่างที่เราคิด

งานอิสระคืออะไร?

งานอิสระ หมายถึง งานที่ไม่ได้รับเงินเดือนประจำ ไม่ได้มีผู้ว่าจ้างประจำหรือสังกัดที่แน่นอน สามารถกำหนดรูปแบบและวิธีการทำงานได้เอง โดยแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คืองานฟรีแลนซ์ (เช่น งานรับจ้างทั่วไป) และธุรกิจส่วนตัว 

จากผลสำรวจของ​ EIC มนุษย์เงินเดือนชาวไทยราว 79% ตอบว่าอยากเปลี่ยนมาทำงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นงานฟรีแลนซ์หรือออกมาเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง ที่น่าแปลกใจคือแม้แต่มนุษย์ออฟฟิศที่ได้เงินเดือนสูงๆ ก็ตอบไปในทิศทางเดียวกันนี้ อย่างกลุ่มที่ได้รายรับมากกว่าหนึ่งแสนบาทต่อเดือน ราว 1 ใน 3 ก็ตอบว่าอยากออกไปทำงานอิสระอย่างเต็มตัวเช่นกัน

ที่มา: การวิเคราะห์จากผลสำรวจของ EIC ณ เดือนธันวาคม 2018 (ผู้ตอบแบบสอบถาม 5,873 คน)

แต่ถึงจะมีคนอยากออกมาทำงานอิสระกันเยอะ ผลสำรวจกลับบอกเราว่า กลุ่มมนุษย์เงินเดือนยังคงครองตลาดแรงงานอยู่นั่นเอง จากข้อมูลของอีไอซี กลุ่มคนทำงานประจำคิดเป็นสัดส่วน 74% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มคนทำงานอิสระมีสัดส่วนเพียง 21% (แบ่งเป็นคนทำงานฟรีแลนซ์ 12% และคนทำธุรกิจส่วนตัว 9%) สิ่งที่ตัวเลขนี้บอกกับเราคือไม่ใช่ทุกคนที่อยากเปลี่ยนมาทำงานอิสระจะสามารถทำได้อย่างใจคิดเสมอไป ยังมีอีกหลากหลายเหตุผลที่ทำให้คนลังเลที่จะก้าวออกมาทำงานอิสระอย่างเต็มตัว

แล้วอะไรคือสาเหตุเหล่านั้น?

นอกจากความไม่แน่นอนเรื่องรายได้ ความไม่มั่นคงด้านการงาน หรือเรื่องการขาดสวัสดิการ เช่น ประกันสุขภาพต่างๆ และวันลาแล้ว งานฟรีแลนซ์อาจจะไม่ได้ให้ค่าตอบแทนสูงอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้

ข้อมูลจากเว็บไซต์หางานยอดนิยมแห่งหนึ่งในประเทศไทยเผยว่า เหล่าคนสมัครงานฟรีแลนซ์เรียกเงินเดือนในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของงานประจำทั่วไป และยังเรียกเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2016 ผู้สมัครงานฟรีแลนซ์เรียกเงิน
ต่อเดือนที่ราว 18,600 บาท และพอถึงปี 2018 ก็เรียกเพิ่มขึ้นเป็น 20,900 บาท เทียบกับค่าจ้างงานประจำทั่วไปซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก18,503 บาทในปี 2016 เป็น 18,637 บาทในปี 2018

หมายเหตุ: ข้อมูลค่าจ้างงานประจำในที่นี้รวมค่าล่วงเวลา และได้ตัดแรงงานในภาคเกษตรและก่อสร้างออก รวมไปถึงแรงงานที่ทำงานเสมียน ผู้ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน (เช่น คนงานและผู้ช่วยทำความสะอาด) ผู้ปฏิบัติการเครื่องจักรโรงงานและเครื่องจักร  และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ และผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูล LFS และเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่งในประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อถามว่าถ้าจะเปลี่ยนมาทำงานอิสระกันจริงๆ จะคาดหวังรายได้ที่มากขึ้นหรือน้อยลง เหล่ามนุษย์เงินเดือนถึง 96% ก็ตอบว่าต้องการรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 50%-70% ของเงินเดือนที่มีอยู่เดิม และมีจำนวนไม่น้อยที่ตอบว่าต้องการรายได้มากขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัว

แต่แน่นอนว่าโลกแห่งความจริงไม่ได้สวยงามแบบนั้น

ข้อเท็จจริงที่เราพบคือคนทำงานฟรีแลนซ์ที่มีรายรับสูงๆ นั้น มีจำนวนน้อยมาก เมื่อลองเทียบดูว่าคนที่ทำงานแต่ละแบบมีรายได้เท่าไหร่กันบ้าง จะเห็นว่าคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มีรายรับต่อเดือนต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ โดย 18% ของคนทำงานฟรีแลนซ์ตอบว่ามีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาท เทียบกับคนทำงานประจำและคนทำธุรกิจส่วนตัวที่มีสัดส่วนตรงนี้เพียง 4% และ1% เท่านั้น ในขณะเดียวกัน คนทำงานฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 100,000 บาทกลับมีสัดส่วนเพียง 5% ซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนทำงานประจำและคนทำธุรกิจส่วนตัวที่มีสัดส่วนคนรายได้สูงๆ เท่ากับ 8% และ 12% ตามลำดับ

ที่มา: การวิเคราะห์จากผลสำรวจของ EIC ณ เดือนธันวาคม 2018

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนทำงานฟรีแลนซ์ไม่ได้มีจำนวนเยอะอย่างที่เราคาด เพราะถึงแม้มนุษย์เงินเดือนหลายคนอยากจะก้าวออกจากงานประจำกันแค่ไหน แต่เมื่อเจอระดับรายได้ที่ไม่ได้สูงอย่างที่หวังไว้ (เผลอๆ อาจจะต่ำกว่างานประจำที่ทำอยู่เสียด้วยซ้ำ) ก็ต้องชักเท้ากลับมาคิดทบทวนกันใหม่

จากการสำรวจของอีไอซี เหตุผลส่วนใหญ่ที่คนเลือกทำงานประจำคือความมั่นคงด้านการงานและการเงิน (คือมีรายได้สม่ำเสมอ มีหน้าที่การงานรองรับตลอดเวลา) รองลงมาคือสวัสดิการ วันเวลาทำงานที่แน่นอน โอกาสเติบโต รวมถึงการมีสังคมในการทำงาน เมื่อเทียบกับงานฟรีแลนซ์ที่ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทั้งเรื่องการงานและการเงิน ก็ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะเลือกอยู่กับงานประจำซึ่งให้ความอุ่นใจมากกว่า

หมายเหตุ: แบบสำรวจกำหนดให้เลือกตอบเหตุผลได้ 3 ข้อ

ที่มา: การวิเคราะห์จากผลสำรวจของ EIC ณ เดือนธันวาคม 2018

อย่างไรก็ตาม ข้อดีหลายๆ อย่างของงานฟรีแลนซ์ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของงาน อิสระในการบริหารจัดการเวลาเป็นของตัวเอง หรือการไม่ต้องพบเจอกับปัญหาดราม่าในที่ทำงานนั้นก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมแลกความมั่นคงของงานประจำแล้วก้าวออกไปหางานฟรีแลนซ์ อีกข้อน่าสนใจที่เราพบคือ เมื่อก้าวเข้าสู่วงการนี้แล้ว คนส่วนใหญ่ก็ตอบว่าพอใจกับสิ่งที่ทำอยู่และยังอยากอยู่กับงานฟรีแลนซ์ต่อไปเรื่อยๆ ตรงข้ามกับเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ตอบว่าอยากเปลี่ยนงานกันเป็นส่วนมาก

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงกำลังถามตัวเองว่าจะอยู่กับงานประจำหรือลองลาออกมารับงานฟรีแลนซ์บ้างดี

ดังนั้น เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ สำหรับครั้งหน้า EIC จะพาไปสำรวจว่า วิถีชีวิตแบบชาวฟรีแลนซ์นั้น เขาทำอะไรกันบ้าง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา