เพราะรู้ว่าไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะสนใจแฟชั่น จะให้ไปเดินเลือกซื้อเสื้อผ้าก็ไม่ถนัด ยิ่งพอ e-Commerce กำลังบูม แต่ผู้ชายกลับไม่ได้สนใจสินค้าแฟชั่นเลย หรือเพราะสินค้านั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการ
Fred & Francis รู้ว่าผู้ชายไม่ต้องการเสื้อผ้าที่มีแค่ไซส์ S M L XL โดยเฉพาะถ้าเป็นเสื้อสูท ซึ่งต้องการความพอดี เพื่อความดูดี แต่ถ้าจะให้ไปร้านตัดเสื้อ ก็ไม่อยากไป ไม่มีเวลา หรือไม่อยากเดินทาง
สร้างจุดต่าง ตอบลูกค้า โจทย์ของ Fred & Francis
มาโนช พฤฒิสถาพร คนไทยที่เคยทำงานใน Credit Karma บริษัท FinTech อันดับต้นๆ ในอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้ง Fred & Francis โดยเป็นสตาร์ทอัพด้านเสื้อผ้าผู้ชาย เป้าหมายคือ การช่วยให้ได้เสื้อผ้าที่ดูดีเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายที่สุดสำหรับผู้ชาย เริ่มจากเสื้อเชิ้ตและเสื้อสูทสั่งตัด เพราะเป็นเครื่องแต่งกายที่ผู้ชายใส่เป็นประจำเวลาที่ต้องดูดี ไปทำงาน ไปงานเลี้ยง หรือไปเที่ยวกลางคืน และพร้อมจะลงทุนกับเสื้อเชิ้ตเสื้อสูท
แนวคิดของ Fred & Francis ต่างจาก e-Commerce ทั่วไป ตรงที่ Fred & Francis เชื่อว่าการได้เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับรูปร่างของผู้ใช้นั้นไม่สามารถเกิดบนออนไลน์ได้ ต้องมีการพูดคุยเข้าใจถึงรูปร่างของผู้ใช้ ขณะเดียวกันผู้ใช้ก็อยากเห็นผ้าอยากสัมผัสผ้าที่จะเอาไปตัดเป็นเสื้อที่มีคุณภาพในราคาที่เท่ากับซื้อจากห้าง
Startup ด้านรีเทลที่จะแข่งกับ Amazon หรือ Lazada นั้น ต้องสามารถนำเสนอสินค้าหรือประสบการณ์เฉพาะที่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่สามารถให้ได้และต้องเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ให้ความสำคัญด้วย ต้องสร้างแบรนด์ให้ผู้ใช้ชอบและเห็นถึงความแตกต่าง ถึงจะอยู่รอดและเติบโต
สะสมประสบการณ์จาก US ก่อนกลับมาเริ่มที่ไทย
จุดเริ่มต้นของมาโนช คือการทำ FitFactory ที่อเมริกา เพราะเห็นโอกาสว่าเสื้อสูทเสื้อเชิ้ตสั่งตัดที่อเมริกานั้นมีราคาแพงมากและประเทศไทยเองก็ขึ้นชื่อในด้านนี้ ส่วนสตาร์ทอัพที่ทำเป็นออนไลน์100% ทั้งวัดตัวดูสินค้าและออกแบบนั้นก็ไม่ได้รับผลตอบรับที่ดี พอเริ่มทำก็พบว่ามีคู่แข่งที่ใช้โมเดลคล้ายๆ กัน คือ ทำที่เอเชียแล้วขายที่นู่น แต่ทำมาก่อน ทำมานานกว่า และมีเงินทุนมากกว่า
“ทางออกคือ ต้องหาตลาดเฉพาะ แล้วก็เจอโอกาสสำหรับผู้ชายที่ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ ไม่มีดีมานด์พอที่คู่แข่งจะมาเปิดสาขา ผมใช้วิธีไปพาร์ทเนอร์กับร้านรับแก้เสื้อผ้าซึ่งมีอยู่ทุกเมืองที่อเมริกา ซึ่งเขาก็ชอบในไอเดียเรา เพราะเราจ้างเขาวัดตัวและจ่ายเงินให้เขาเวลาลูกค้าเราเอาสูทไปแก้กับเขา ผมก็เอาไอเดียนี้ไประดมทุนบน Kickstarter ซึ่งก็สำเร็จ แต่พอทำไปได้สี่เดือนก็เกิดปัญหาเรื่องทีมกับวีซ่าจึงตัดสินใจกลับมาที่ไทย”
สำหรับที่ไทยร้านตัดสูทมีเยอะมาก แต่ทุกร้านทำธุรกิจเหมือนเดิมกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดๆ นี่คือโอกาสของ Fred & Francis ที่จะนำนวัตกรรมนำโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อลูกค้าได้ดีกว่า
Online เต็มรูปแบบ Service ให้บริการถึงที่
Fred & Francis ไม่มีหน้าร้าน มีเว็บไซต์ และ Personal Stylist ซึ่งจะเป็นคนที่ติดต่อกับผู้ใช้โดยตรง นัดหมายไปบริการผู้ใช้ถึงที่ พูดคุยนำเสนอผ้า วัดตัว ออกแบบเสื้อสูทเสื้อเชิ้ต ลองตัว และส่งมอบสินค้า
ความท้าทาย คือทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าเสื้อสูทเสื้อเชิ้ตของ Fred & Francis มีคุณภาพดีมาก จากตอนนี้ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก ซึ่งในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการบอกต่อ ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ ทำ service ให้ผู้ใช้รู้สึกประทับใจในความใส่ใจความสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัวและบอกต่อ นอกจากนี้ยังต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และหาวิธี growth hack โตแบบคิดต่าง ทำงานด้วยวิธี Lean Startup มีการทดลองแนวทางหาลูกค้าและวิธีบริการแล้ววัดผลอยู่เสมอ
Fred & Francis ให้บริการมาได้ระยะหนึ่ง เน้นลงทุนต่ำเปิดตัวเร็ว ทดสอบตลาดให้ Stylist นำแคตาล็อกคอลเลคชั่นผ้าให้ลูกค้าเลือกให้บริการผ่านเพื่อนของเพื่อน รวมถึงผู้บริหารระดับสูง
Personal Stylist บริการที่เหนือกว่า
ประสบการณ์ที่ผู้ใช้ได้รับจาก Fred & Francis เกิดจาก Personal Stylist เกือบ 100% Fred & Francis จึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกและอบรม Personal Stylist เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ด้านแฟชั่นหรือบุคลิกภาพ และมีใจรักบริการ สนุกกับการแนะนำเสื้อผ้าให้ผู้อื่น
“ได้เห็นวิวัฒนาการ e-Commerce ที่อเมริกาว่าแข่งกันที่ personalization สร้างประสบการณ์ที่ผู้ใช้ได้รับเป็นส่วนตัว บวกกับการผสมผสาน online และ offline ซึ่งแม้แต่ Amazon ยังพัฒนาร้านในชื่อ Amazon Go ให้ลูกค้าเลือกสินค้าในร้าน จากนั้นของจะไปส่งที่บ้านเลย”
เรียกว่า Service ดี ให้ความสะดวกสบายกับลูกค้า แต่สินค้าคือ สูท ต้องมีคุณภาพ ยิ่งการเลือกเจาะตลาดกลางบน ถึงตลาดไฮเอนด์ ความสำคัญของบริการและคุณภาพต้องมาเป็นอันดับ 1 ถ้าสามารถสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในกรุงเทพได้ จะขยายไประดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะไทย มีช่างตัดเสื้อที่มีคุณภาพและค่าแรงไม่แพง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากมาตัดสูทที่เมืองไทย เหลือแค่เอานวัตกรรมและแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ มาทำให้เข้าถึงผู้ใช้มากขึ้น สร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง โอกาสของความสำเร็จมีอยู่เสมอ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา