ปูพรมทุกแพลตฟอร์ม – ต่อยอดจากช่อง กลยุทธ์ใหม่ของ Fox หลังตลาด Pay-TV ไทยทยอยปิดตัว

อย่างที่ทุกคนทราบข่าวว่า ปีที่แล้ว CTH และ Z Pay TV ปิดตัวลง รวมถึง Truevision ก็ประกาศลดช่องรายการ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของอุตสาหกรรม Pay-TV แล้วคนที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการอย่าง Fox จะทำอย่างไรล่ะ

ออกจากแค่ Pay-TV เป็นทุกแพลตฟอร์ม

จากเดิมที่ผู้ชมจะคุ้นเคยช่องของ Fox ไม่ว่าจะเป็น Fox Movies, Fox Sports หรือ National Geographic ผ่านการออกอากาศตาม Pay-TV ต่างๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นทีวีดาวเทียมที่รับชมฟรีบางกล่อง แต่พอกลุ่มเหล่านี้เริ่มล้มหายตายจาก ก็ทำให้ Fox ที่เป็นเจ้าของสิขสิทธิ์ภาพยนตร์, ซีรีส์, รายการกีฬา และสารคดี ต้องมาทบทวนการทำตลาดในไทยใหม่ เพราะพอเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น รายได้บริษัทก็ลดฮวบ ผ่านการที่เจ้าของบริการ Pay-TV และทีวีดาวเทียมไม่ได้ซื้อช่องรายการต่อ

หม่อมราชวงศ์ รุจยารักษ์ อาภากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์คส์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า ปีที่ผ่านมารายได้ของธุรกิจในประเทศไทยไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้เยอะพอสมควร เหตุผลมาจากเหตุการณ์ยุติ Pay-TV ที่บริษัทไม่ได้คาดคิดไว้ ซึ่งระหว่างเหตุการณ์นั้นบริษัทก็มีการหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ และสุดท้ายก็มาจบลงที่การ Diversify หรือการมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการนำรายการลิขสิทธิ์ที่บริษัทถืออยู่ออกไปแพร่ภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“Fox อยู่ในไทยมากว่า 20 ปี ก่อนนี้คนเห็นเราหลักๆ ที่ Truevision กับ CTH และ Fox ก็มีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ให้พวกเขาประมาณหนึ่ง แต่เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป เราก็ก็พึ่งฝั่ง Pay-TV อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ดังนั้นเราจึงตัดสินใจเจรจาเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และรายการต่างๆ จากเดิมที่ไว้แพร่ภาพแค่ช่องทาง Pay-TV ก็เปลี่ยนเป็นสามารถนำไปแพร่ภาพช่องทางใดก็ได้ หมายถึง Pay-TV, IPTV, Mobile และ Digital TV เช่นกรณีของช่องดิจิทัลทีวี PPTV ก็ซื้อรายการกีฬากับเรา หรือ AIS ที่กำลังนำไปออกอากาศบน IPTV และ Mobile”

ต่อยอดจากรายการคืออีกตัวเลือก

ขณะเดียวกันการเดินเกมของ Fox ไม่ใช่แค่ซื้อลิขสิทธิ์แบบแพร่ภาพได้ทุกช่องทาง แต่ยังเตรียมนำรายการอื่นๆ ที่ตนเองผลิตมาต่อยอดด้วยการทำกิจกรรมใหม่ๆ กับผู้ชม เช่นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา รวมถึงการนำ National Geographic มาปรับให้เป็นมากกว่าแค่รายการสารคดี เช่นการเจรจาให้เรือสำราญขนาดเล็กที่ล่องอยู่ 20 ลำทั่วโลกเพื่อจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการสำรวจภูมิภาคต่างๆ ก็อาจจะมาจอดให้บริการที่ประเทศไทยก็ได้ เพราะปัจจุบันมีการจัดทริปล่องเรื่องระหว่างเวียดนาม กับกัมพูชา ระยะเวลา 14 วัน ราคา 10,980 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว

นอกจากนี้ในประเทศจีนยังมีการทำ National Geographic ไปทำเป็น Museum Retail หรือพิพิธภัณฑ์ภายในห้างสรรพสินค้า คล้ายกับ Kidzania ที่ให้เด็กสามารถไปศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้เช่นเดียวกัน ส่วนที่ Fox สามารถเดินเกมธุรกิจเกี่ยวกับ National Geographic ได้เต็มรูปแบบก็เพราะทำการ Joint Venture กันแล้ว โดยไล่ตั้งแต่หนังสือ จนไปถึงสารคดี และมองว่าโอกาสที่รายได้จากประเทศไทยจะเพิ่มมาจาก Event หรือ Local Production ก็สามารถทำได้เช่นกัน

สุดท้ายตลาดก็ Monopoly เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตามบริการ Pay-TV ในไทยสุดท้ายเป็น Monopoly เหมือนเดิม ถึงก่อนหน้ามีรายใหม่เข้ามา และสร้างความคึกคักให้กับตลาด แต่ด้วยโมเดลธุรกิจ และการวางตำแหน่งในตลาดก็สู้รายเดิมไม่ได้ ที่สำคัญด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช่องดิจิทัลทีวีถึง 24 ช่อง ทำให้โอกาสที่ Pay-TV จะส่งเนื้อหารายการที่แตกต่างกับช่องที่รับชมฟรีเหล่านี้ก็ยากขึ้นเช่นกัน ในทางกลับกันมันก็ยังมีโอกาสของผู้เล่นหน้าใหม่ เช่นการทำราคาให้เข้าถึงได้ทุกระดับ แต่ตลาด Pay-TV คงไม่เติบโตหลัก 10% เหมือนก่อนหน้าแล้ว ส่วนรายได้ของบริษัทปีนี้คงเติบโตแค่เล็กน้อย

สรุป

การทำตลาดของ Fox หลังจากนี้จะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์เนื้อหารายการที่สามารถแพร่ภาพได้ทุกช่องทาง หรือสมมติแต่ก่อนซื้อภาพยนตร์จาก Walt Disney Studio เพื่อฉายแค่ Pay-TV อย่างเดียว ตอนนี้ก็จะขอซื้อเป็นหลายวิธีแพร่ภาพ เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ และอีกเรื่องที่น่าสนใจคือการนำรายการโทรทัศน์มาอยู่บนโลกจริงๆ ผ่านวิธีต่างๆ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ก็คงเป็นเรื่องที่ใหม่ และสร้างอีกมิติของวงการโทรทัศน์ได้เป็นอย่างดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา