Work From Home กลายเป็นคำที่คนส่วนใหญ่เคยชินในยุคที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากที่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หรือเคยได้ยินแต่ไม่คิดว่าจะทำได้จริง
จากสถิติของมหาวิทยาลัย Stanford พบว่าชาวอเมริกันกว่า 42% ทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา อีก 26% ยังคงต้องไปทำงาน เพราะไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19
แม้ว่าในหลายพื้นที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะทุเลาลงบ้างแล้วก็ตาม แต่บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งในโลก ยังคงประกาศว่าจะให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อไปอย่างถาวร เช่น Facebook และ Twitter ส่วนชาวอเมริกันอีกกว่า 16% ก็คิดเช่นกันว่าจะวางแผนทำงานที่บ้านอย่างถาวร
แน่นอนว่าความนิยมการทำงานที่บ้านที่เกิดขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดการจ้างงานอย่างมากจากพฤติกรรมของคนทำงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เราอาจเห็นได้อย่างชัดเจนในอนาคต มีดังนี้
รูปแบบเงินค่าจ้าง-ค่าตอบแทนจะเปลี่ยนไป
เมื่อการทำงานเปลี่ยนรูปแบบ ชีวิตการทำงานไม่ได้ผูกติดอยู่กับสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ดังนั้นแนวคิดการให้ค่าตอบแทน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย เช่น การพิจารณาการให้เงินเดือนของพนักงานที่เลือกทำงานจากที่บ้าน จะคำนวนจากค่าแรงในแต่ละพื้นที่ ที่บ้านของพนักงานคนนั้นตั้งอยู่ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท เมื่อเทียบกับการให้เงินเดือนแบบเดิมๆ ที่มักอ้างอิงจากค่าครองชีพในเมืองใหญ่ ที่บริษัทตั้งอยู่
ในทางกลับกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ เมื่อพนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่อื่นๆ แสดงว่าพนักงานจำเป็นต้องนำทรัพย์สิน อุปกรณ์ หรือแม้แต่พื้นที่ส่วนตัวของตัวเองมาใช้เพื่อการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ และค่าอินเตอร์เน็ต ก็จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย
Global Workplace Analytics เคยทำการศึกษาว่า การทำงานจากที่บ้านของพนักงาน 1 คน ในช่วงเวลาเพียงครึ่งปี สามารถทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 346,000 บาท ซึ่งการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ บริษัทสามารถนำเงินไปเพิ่มในส่วนของสวัสดิการสำหรับพนักงานที่ทำงานที่บ้านได้
ดึงดูดให้พนักงานอยู่กับบริษัทยากขึ้น
ในอนาคตหากกระแสการทำงานที่บ้าน กลายเป็นกระแสหลักของการทำงาน จะทำให้บริษัทต่างๆ ที่เปิดรับพนักงาน จะอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลามากขึ้น เมื่อไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ทำงาน จะเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานแต่ะคน สามารถหางานได้ตรงความต้องการมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าบ้านกับสถานที่ทำงานจะอยู่ไกลกันหรือไม่ จะต้องเสียเวลาเดินทางนานแค่ไหน ดังนั้นหากเจอบริษัทไหน มีตำแหน่งงานที่น่าสนใจ ก็พร้อมที่จะทำได้ทันที หรือเรียกง่ายๆ คือ โอกาสในการหางานที่ต้องกับความต้องการมีมากขึ้น
ส่วนในมุมของบริษัทต่างๆ ก็นับว่ามีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือ บริษัทสามารถหาพนักงานเก่งๆ เข้ามาร่วมทีมได้มากขึ้น โดยไม่ต้องคำนึกถึงประเด็นเรื่องสถานที่ทำงาน ส่วนข้อเสีย คือ บริษัทอาจไม่สามารถรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้ได้ เพราะโอกาสของพนักงานมีมากขึ้น หากพนักงานแต่ละคนขาดปฎิสัมพันธ์ระหว่างกัน ความภักดีต่อองค์กรก็จะน้อยลงไปด้วย
วัฒนธรรมองค์กร สิ่งที่ยากจะสร้าง
ความเหมือนของคนในองค์กร จะเป็นสิ่งที่สร้างวัฒนธรรมที่คนภายในองค์กรมีร่วมกัน แต่ในยุคที่คนทำงานจากที่บ้าน วัฒนธรรมองค์กรกลายเป็นสิ่งยากที่จะสร้างได้ ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะเป็นส่วนช่วยดึงดูดให้พนักงานเก่งๆ อยู่กับองค์กรต่อไป
จากผลการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า พนักงานกว่า 56% มองว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดี มีความสำคัญกว่าเงินเดือน
ที่ผ่านมาการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละบริษัท จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน จากการประชุมปฐมนิเทศ เพื่อแนะนำบริษัท แต่ในยุคที่ทุกคนทำงานจากที่บ้าน คงจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พนักงานใหม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร ที่ต้องอาศัยการเจอหน้ากัน ทำทัวร์พาเดินชมสถานที่ทำงาน
คิดวิธีวัดผลลัพธ์จากพนักงานใหม่ๆ
ตามธรรมชาติของการทำงาน คนเป็นนายต้องการหาวิธีที่จะวัดผลการทำงานของพนักงานแต่ละคนเสมอ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อทำงานจากที่บ้าน จะวัดผลการทำงานอย่างไร
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มีสาเหตุหลักๆ มาจาก “ความเชื่อใจ” เป็นหลัก เพราะหัวหน้าอาจไม่เชื่อใจว่าขณะอยู่ที่บ้าน พนักงานแต่ละคนจะทำงานจริงๆ และในขณะเดียวกันหัวหน้าก็ไม่สามารถควบคุมพนักงานแต่ละคนได้โดยตรง เหมือนกับการทำงานในที่ทำงาน
ในอนาคตแต่ละบริษัท อาจคิดค้นวิธีที่จะสอดส่องดูแลการทำงานของพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น ใช้โปรแกรมตรวจจับการขยับของเมาส์ การพิมพ์ การจับภาพหน้าจอ การตรวจดูประวัติว่าพนักงานเข้าเว็บไซต์อะไรบ้าง เป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการทำงานหรือไม่
ในอีกทางหนึ่ง การสอดส่องดูแลการทำงานของพนักงานอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป เพราะในมุมของพนักงานอาจสร้างความไม่พอใจ เพราะพนักงานจะขาดความเป็นส่วนตัว และรู้สึกไม่พอใจที่ตัวเองโดนควบคุม ซึ่งอาจส่งผลต่อความพึงพอใจในงานที่ทำได้ในที่สุด
ที่มา – Entrepreneur
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา