ต้องบอกเลยว่า เราอยู่ในยุคที่ดิจิทัล disrupt ทุกวงการจริงๆ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “หมอดู” ในเกาหลีใต้ตลาดดูดวงที่มีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท กำลังถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
เงินสะพัดในตลาดหมอดูเกาหลีใต้ ยิ่งใหญ่หลักแสนล้าน
หนึ่งในอาชีพที่ไม่ห่วงว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงคือ “หมอดู” เพราะถ้าเศรษฐกิจดี คนก็แห่มาขอคำพยากรณ์ว่าทำอย่างไร ชีวิตหรือธุรกิจจะรุ่งโรจน์มากกว่านี้ ส่วนถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนย่อมอยากรู้ว่าจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างไร และอนาคตข้างหน้าจะราบรื่นหรือไม่ (โดยเฉพาะถ้าดูฟรี ไม่ว่าใครๆ ในสถานกาณณ์ไหนๆ ก็ชอบ)
ตลาดหมอดูเกาหลีใต้เป็นตลาดที่ใหญ่มาก หนังสือพิมพ์ Korea Economic Daily คาดการณ์ว่า ตลาดนี้มีเม็ดเงินสะพัดถึง 3,700 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.16 แสนล้านบาท
Paik Woon-san หัวหน้าสมาคมหมอดูเกาหลี ประเมินว่า ปัจจุบันมีหมอดูที่ลงทะเบียนในประเทศประมาณ 3 แสนคน และมีหมอผีอีก 1.5 แสนคน (ความต่างของหมอดูกับหมอผีคือ หมอดูอ้างว่าใช้หลักจิตวิทยา แต่หมอผีอ้างว่าใช้จิตวิญญาณในการดูดวง) แต่ถ้านับตัวเลขของหมอดูกับหมอผีในเกาหลีใต้ ทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ได้ลงทะเบียนอาจมีตัวเลขสูงถึง 1 ล้านคน
ภายใต้ประชากรกว่า 51 ล้านคนของเกาหลีใต้ ข้อมูลของภาครัฐระบุว่า มีชาวพุทธจำนวน 46,905 คน ส่วนชาวคริสแบ่งเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ 14,483 คน และนิกายคาธอลิค 15,918 คน และเมื่อนับรวมกัน ยังถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่ทั้งหมอดูและหมอผีทำนายดวงให้ได้โดยไม่แบ่งนิกาย ไม่แบ่งศาสนา หรือต่อให้เป็นคนไม่มีศาสนาก็ดูได้
“ดวง” อยู่กับคนเกาหลีใต้ ทุกช่วงเวลาของชีวิต
มีผลสำรวจที่น่าสนใจในปี 2017 ของ Duo นายหน้าหาคู่แต่งงานออนไลน์ในเกาหลีใต้ พบว่า สาวโสดเกาหลีกว่า 82% และในจำนวนนี้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีถึง 57% ได้ไปขอคำปรึกษากับหมอดูกันมาแล้วทั้งนั้น
ส่วนบริษัทวิจัยด้านการตลาดในเกาหลีใต้ Trend Monitor ได้ทำการสำรวจเช่นกัน ก็พบว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของคนเกาหลีใต้ ไปดูหมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยส่วนใหญ่จะไปดูในช่วงเดือนธันวาคมและกุมภาพันธ์ เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงที่เปลี่ยนปีปฏิทินแบบสุริยคติ (ดวงอาทิตย์) และจันทรคติ (ดวงจันทร์)
คนเกาหลีใต้ดูดวงเรื่องอะไรกันบ้าง?
- ถ้าเป็นนักศึกษาใกล้จบ จะไปดูดวงว่าบริษัทไหนจะรับเข้าทำงานบ้าง
- ถ้าเป็นนักธุรกิจ จะไปหาฤกษ์งามยามดีว่าวันที่เท่าไหร่ควรจะปล่อยสินค้าตัวใหม่ลงสู่ตลาด
- ถ้าเป็นพ่อแม่มือใหม่ จะไปปรึกษาเพื่อขอชื่อที่เป็นมงคลให้กับลูก
- ถ้าเป็นคู่รัก จะไปดูหมอเพื่อจะได้รู้ว่า ดวงของทั้งสองคนไปกันรอดหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่วิธีแก้คือ “เปลี่ยนชื่อ”
จะว่าไป การเปลี่ยนชื่อเป็นหนึ่งในสิ่งยอดฮิตของคนเกาหลีใต้ เพราะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีคนเกาหลีที่เปลี่ยนชื่ออย่างถูกต้องกฎหมายไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคน
อาชีพหมอดูจะถูก disrupt จากเทคโนโลยี (?)
ในยุคดิจิทัล การดูดวงทำได้แล้วผ่านออนไลน์ เพราะมีแอพพลิเคชั่นมากมายให้ดาวน์โหลดไปใช้ ที่ยอดนิยมในเกาหลีใต้ตอนนี้คือ Jeomsin เปิดไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มียอดดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 3 ล้านครั้ง รูปแบบการทำงานคือ ทุกๆ เช้าจะส่งข้อความทำนายทายทักของแต่ละวันมาให้ ส่วนวิธีการดูดวงมีหลายวิธี เช่น ให้คุณเอาฝ่ามือไปโชว์ให้กล้องดู หรือถ่ายรูปเซลฟี่แล้วส่งไปในกรณีที่สำนักนั้นดูดวงผ่านใบหน้า เป็นต้น
แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะมีสตาร์ทอัพรายหนึ่งชื่อ LOVOT LAB ได้สร้างหุ่นยนต์ดูดวงขึ้นมาตัวหนึ่งชื่อว่า Buddha l เป็นหุ่นยนต์ที่ใส่โปรแกรมให้อ่านใบหน้าของผู้คน และระบุได้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เช่น มีความสุข โกรธ เศร้า และทำนายทายทักดวงของคนๆ นั้นได้ในเบื้องต้น
The Economist เตือนว่า สิ่งที่ต้องติดตามคือ หุ่นยนต์เก่งขึ้นทุกวัน เพราะอย่างในปี 2016 Alphago ยังเอาชนะ Lee Sedol แชมป์หมากล้อมระดับโลกไปได้ นอกจากนั้นยังอ้างไปถึงงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT ที่บอกว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ในปัจจุบันอยู่ในขั้นการเก็บข้อมูลการกระทำของมนุษย์ และสามารถประเมินเหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตได้ หรืออย่างในจีน ก็มีการฝึกหุ่นยนต์ให้แยกแยะการกระทำที่เป็นอาชญากรรมและไม่ใช่อาชญากรรม แถมยังแม่นยำ เพราะแยกได้ถูกต้องถึง 9 ใน 10 ครั้ง
- เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า กำลังจะ disrupt วงการหมอดู ต่อไปอาจต้องบอกว่า ให้ AI ทำนายกัน
[แถม 1] คนที่ทำสตาร์ทอัพหุ่นยนต์ดูดวงรายนี้ เขาบอกว่า ไม่เคยไปหาหมอดูเพื่อดูดวงตรงๆ แต่ครั้งหนึ่งเคยได้รับคำทำนายจาก “คุ้กกี้เสี่ยงทาย” เลยลองทำตาม ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี สุดท้ายจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจนี้ขึ้นมา
[แถม 2] ถ้ามาดูตลาดหมอดูของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรเคยประเมินตัวเลขไว้ในปี 2551 ว่า ธุรกิจหมอดูและธุรกิจต่อเนื่องนั้นก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจถึง 2,550 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2550 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 นอกจากนี้ธุรกิจหมอดูยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามมา เช่น ธุรกิจทำบุญ, สะเดาะเคราะห์ ธุรกิจหนังสือพยากรณ์ดวงชะตา รวมไปถึงธุรกิจสื่อสารประเภทอินเทอร์เน็ตและออร์ดิโอเท็กซ์ที่ให้บริการดูหมอ เป็นต้น
อ้างอิง – The Economist, Korea Times, Kasikorn
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา