ครึ่งแรกปี 2562 ตลาดรถยนต์มีการเติบโตจากปัจจัยบวก ทำให้ยอดขายเติบโตขึ้น 7.1% เทียบกับเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 523,770 คัน แต่ครึ่งหลังของปีกลับไม่สดใสเท่าไรนักจากสภาพเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าตลาดมีโอกาสหดตัว 3% หรือมียอดขาย 536,000 ทำให้ตลาดรวมปีนี้ จะมียอดขายรวม 1,060,000 คัน เท่ากับว่าเติบโต 1.8% เทียบกับปี 2561 ที่มียอดขายรวม 1,041,739 คัน
แต่ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า กลับมีทิศทางการเติบโตที่ดีกว่า โดยครึ่งปีแรกมียอดจดทะเบียนแล้ว 13,611 คัน เติบโตขึ้น 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักคือ เริ่มมีรถยนต์ให้เลือกหลายแบรนด์หลายรุ่น และราคาเข้าถึงได้มากขึ้น
รถยนต์ไฟฟ้าในที่นี้ หมายถึง รถยนต์แบบไฮบริด HEV (มีแบตเตอรี่และเติมน้ำมัน) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด PHEV (มีแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟฟ้าได้และเติมน้ำมัน) และ รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ชาร์จไฟฟ้าล้วนๆ BEV
ที่ผ่านมาผู้บริโภคมีมีความกังวลเกี่ยวกับ ราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งไว้สูงมาก ต้นทุนส่วนของแบตเตอรี่ก็สูงมากเช่นกันเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป ความไม่พร้อมของสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า แต่ปัจจุบันทุกอย่างกำลังได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แบ่งเรื่องต้นทุนเป็น 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้
- ราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายระดับและเข้าถึงได้มากขึ้น
- รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการผลิตในประเทศและเป็นกลุ่มที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจะมีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ต่ำกว่ารถยนต์จากค่ายที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ชัดในกลุ่มของรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดที่สามารถตั้งราคาได้ใกล้เคียงกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในปกติในรุ่นเทียบเคียงกันแม้จะมีต้นทุนทางเทคโนโลยีที่สูงกว่า ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากขึ้นในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวทำให้รถยนต์ไฮบริดก้าวสู่การเป็นรถยนต์รุ่นมาตรฐานแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- รถยนต์ไฟฟ้านำเข้ามาจากประเทศ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่พบเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีและภาษีนำเข้ารถยนต์ได้ลดลงเหลือร้อยละ 0 แล้วก็จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ทำให้สามารถตั้งราคาได้ถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศที่ยังต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งบางยี่ห้อสามารถตั้งราคาให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ส่งผลให้ได้รับการตอบรับต่อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จากผู้บริโภคดีเกินกว่าที่คาด
- ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างถือครองรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลง โดยที่หากถือครองรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ จะได้ประโยชน์มากในช่วง 8 ถึง 10 ปีแรกที่ถือครอง เนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่ในระยะประกันของค่ายรถ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภทมีต้นทุนในการถือครองที่ต่ำกว่ารถยนต์สันดาปภายในมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต่ำกว่า ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่โดยเฉพาะก็มีค่าบำรุงรักษาเฉลี่อต่อปีที่ต่ำกว่ารถยนต์ประเภทอื่นมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเลยระยะประกันที่ 8 ถึง 10 ปีไปแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเพิ่มเข้ามา ทำให้ต้นทุนการถือครองปรับเพิ่มขึ้นไปอีกระดับจากช่วงที่อยู่ในระยะประกัน แต่ประเด็นปัญหาค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ดังกล่าวไม่ได้สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคมากเท่าในอดีต เนื่องจากราคาแบตเตอรี่มีทิศทางที่ปรับลดลงมาตลอด และมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะปรับลดลงไปถึงกว่าร้อยละ 60 จากราคาปัจจุบันในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วย ซึ่งมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปต่อต้นทุนการถือครองรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับลดลงเช่นนี้ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ามีทิศทางเติบโตในอนาคต
ต้นทุนการถือครองรถยนต์ประเภทต่างๆ กรณีใช้รถถึงปีที่ 10 และต้องมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าใหม่
รถยนต์เครื่องยนต์
สันดาปภายในปกติ |
รถยนต์ไฮบริด | รถยนต์ไฟฟ้า
แบบแบตเตอรี่ |
|
ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อปี | 36,429 | 22,992 | 7,278 |
ค่าบำรุงรักษาเฉลี่ยต่อปีเ | 4,340 | 4,745 | 1,700 |
ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่เฉลี่ยต่อปี | 1,440 | 4,415 | 11,168 |
รวมค่าใช้จ่ายต่อปี | 42,598 | 32,398 | 20,146 |
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 10 ปี | 422,085 | 321,516 | 201,456 |
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ สมมติให้เดินทางเฉลี่ยปีละ 20,000 กิโลเมตร และคำนวณจากราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ที่ 28.05 บาท/ลิตร (5 ส.ค. 62) กับค่าไฟฟ้าอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) ช่วงเวลา Off Peak ที่ 2.6369 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีโอกาสที่จะทำตัวเลขได้อย่างน้อย 18,400 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 75 จากปีก่อน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งตลาดของไทยในปีนี้อาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ 32,000 คัน โดยประมาณ หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 61 จากปีก่อนที่ทำตัวเลขยอดขายได้ 19,880 คัน
คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยแยกตามประเภทรถยนต์ปี 2562
ประเภทรถ | 2561 | 2562f | ||
ยอดขายรถยนต์ (คัน) | %YoY | ยอดขายรถยนต์ (คัน) | %YoY | |
HEV
PHEV BEV |
19,880
19,803 77 |
66%
66% 185% |
32,000
30,500 1,500 |
61%
54% 1,848% |
รถยนต์ประเภทอื่น | 1,021,859 | 19% | 1,028,000 | 0.6% |
รวม | 1,041,739 | 20% | 1,060,000 | 1.8% |
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
สรุป ตลาดรวมมีโอกาสเติบโตได้น้อยจากผลกระทบต่างๆ ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสขยายตัวสูง แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงหลังหมดอายุประกันในส่วนของอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมาก
ดังนั้น การที่ค่ายรถจะแสดงให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ในระยะยาวเมื่อรถยนต์ไฟฟ้ากลายมาเป็นรถยนต์รุ่นมาตรฐานแทนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน จะทำให้การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเกิด Economies of scale ประกอบกับบางส่วนอาจมีการย้ายฐานมาผลิตในไทยมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคและทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้าหากมีการช่วยเหลือผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดราคาแบตเตอรี่ใหม่เมื่อเปลี่ยนคืน หรือได้ส่วนลดสำหรับซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่หากนำรถยนต์ไฟฟ้ามือสองกลับมาขายที่ค่ายเจ้าของรถ เป็นต้น ก็อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และทำให้เกิดการหมุนเวียนรถยนต์ที่เร็วขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา