ซีอีโอ Ford ชี้ รถยนต์ไฟฟ้าจีนคือภัยคุกคามของอุตสาหกรรม เหตุรถยนต์ไฟฟ้าจีนระบาดไปทั่วโลก

Jim Farley ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ford ให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal ว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนคือภัยคุกคามของอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากการผลิตที่รวดเร็ว ต้นทุนที่ถูกกว่า รวมถึงการขยายตลาดไปหลายภูมิภาคทั่วโลก กลายเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดั้งเดิม

Ford

รถยนต์ไฟฟ้าจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

Jim Farley ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ford เล่าให้ฟังว่า จากในอดีตที่ประเทศจีนเป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก ผ่านการนำเข้ารถยนต์จำนวนมาก ทั้งจูงใจให้แบรนด์ผู้ผลิตจากทั้งญี่ปุ่น, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เข้าไปตั้งโรงงานที่นั่น โดยโรงงานจะผลิตเพื่อจำหน่ายในจีน และส่งออกไปทั่วโลก

แต่ในปี 2022 เป็นต้นมา ประเทศจีนได้ปรับบทบาทเป็นผู้ผลิต และส่งออกรถยนต์แทน โดยจำนวนส่งออกรถยนต์นั้นใกล้เคียงกับจำนวนที่นำเข้า รวมถึงภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศจีน จากเดิมที่มีผู้เล่นต่างชาติคอยขับเคลื่อน กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ผู้ผลิตประเทศจีนเป็นผู้เล่นหลักแทน

และหลังจากประสบความสำเร็จในประเทศแล้ว แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนเหล่านั้นยังส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปทำตลาดในหลายภูมิภาคทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ยุโรป, เอเชีย, แอฟริกา รวมถึงอเมริกาใต้ ซึ่งในประเทศเม็กซิโกรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนกินส่วนแบ่งยอดขายถึง 20%

แข็งแกร่งจนกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญ

ที่รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนเพิ่มจำนวนสัดส่วนยอดขายในประเทศจีน รวมถึงการขยายออกไปตลาดโลกอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นมาจากการที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนรวมมูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.57 ล้านล้านบาท ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการสนับสนุนนี้ทำให้แบรนด์รถยนต์จากจีนสามารถทำราคาได้ต่ำกว่าผู้ผลิตประเทศอื่น

ขณะเดียวกันด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า โดยเฉพาะค่าแรง ทำให้การลงทุนพัฒนารถยนต์รุ่นหนึ่งที่ไล่ตั้งแต่การวิจัย และพัฒนา, การออกแบบ, การผลิต จนไปถึงการทำตลาด และการขนส่งเพื่อส่งมอบให้ลูกค้านั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่าแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ประเทศอื่นเช่นกัน

นอกจากนี้การที่ธุรกิจในประเทศจีนเข้าไปลงทุนในการขุดหาแร่ที่ต้องใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ลิเทียม ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนสร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงแร่เหล่านั้น ผ่านการควบคุมตลาดนี้ได้

ถ้าไม่ปรับตัวแบรนด์ดั้งเดิมเหนื่อยแน่

Jim Farley เสริมว่า นอกจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดั้งเดิมกำลังเจอกับความท้าทายจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ค่าแรงที่สูงขึ้น, กฎระเบียบเรื่องมลพิษ รวมถึงการขาดแคลนการเข้าถึงแร่ลิเทียม หรือวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

“การนำมาตรฐานแบบจีนมาใช้คือเรื่องที่สำคัญที่สุด” Jim Farley กล่าวย้ำ เพราะการกระทำดังกล่าวช่วยให้แบรนด์รถยนต์ดั้งเดิมสามารถตอบสนองกับความท้าทายข้างต้น และฝ่าวิกฤตภัยคุกคามของอุตสาหกรรมครั้งนี้ไปได้ และถ้ายังต้องการทำตลาดร่วมกันต่อไป แบรนด์รถยนต์ดั้งเดิมก็ต้องเร่งปรับตัว

ทั้งนี้ภายใต้ปัญหาข้างต้นยังมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เช่น การที่สหรัฐอเมริกา และยุโรปเริ่มส่งแผนการขึ้นภาษีหากต้องการนำเข้ารถยนต์จากประเทศจีนเข้ามาทำตลาด รวมถึงผู้บริโภคเองยังมีความกังวลเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนเช่นกัน

Brand Inside มองว่า ถึงจะมีข้อจำกัดดังที่แจ้งไปก่อนหน้าบรรทัดนี้ แต่มันอาจยังไม่มากพอในการทัดทานการบุกตลาดของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนอยู่ดี ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา