เกาะกระแสบอลไทยฟีเวอร์ เมื่อธุรกิจบอลไทยมาแรงกว่าบอลนอก

jpui

วันนี้ (6 ก.ย.) ทีมชาติไทยมีคิวเตะฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับทีมชาติญี่ปุ่น ผมเลยขออนุญาตเกาะกระแสบอลไทยฟีเวอร์ นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจบอลไทย ที่ตอนนี้มาแรงกว่าบอลนอกไปแล้ว

ผมเป็นแฟนบอลไทยคนหนึ่งที่ติดตามมาตั้งแต่ไทยลีกครั้งที่ 1 (สมัยนั้นจะเรียกไทยลีกก็แปลกๆ น่าจะเรียกว่ากรุงเทพลีกมากกว่า เพราะมีแต่ทีมในกทม.) ยุคนั้นคนไม่ค่อยสนใจบอลไทยครับต้องบอกว่าจำนวนนักเตะกับทีมงานยังมากกว่าคนดูเสียอีก… แถมยังต้องเอาคณะตลกมาเล่นตอนพักครึ่ง จับฉลากลุ้นรถมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แต่คนดูก็ยังน้อย เรียกว่าเป็นยุคตกต่ำของบอลไทยชัดๆ

ข้ามมายุครุ่งเรืองเลยล่ะกัน เหตุผลสั้นๆ คือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียหรือ AFC เขาจะตัดสิทธิบอลไทยไม่ให้แข่งบอลระดับทวีป ถ้าไม่ยกระดับการบริหารจัดการให้เป็นมืออาชีพ ในที่สุดบอลไทยก็บูมสุดขีดอย่างที่เห็นทุกวันนี้

China Thailand

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจความนิยมของกีฬาฟุตบอลไทย โดยเน้นกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบและชมฟุตบอล เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับชมฟุตบอลไทย ความเชื่อมโยงของฟุตบอลที่มีต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ ผลสำรวจนี้ทำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ผลวิจัยก็คือในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่ามีการรับชมการแข่งขันฟุตบอลไทยทางทีวีเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 75.0 ขณะที่การรับชมเท่าเดิมคิดเป็นร้อยละ 17.4 และการรับชมน้อยลงคิดเป็นร้อยละ 7.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ชื่นชอบฟุตบอล

ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74.6 รับชมการถ่ายทอดการแข่งขันทั้งฟุตบอลลีกไทยและต่างประเทศทางทีวี โดยการแข่งขันฟุตบอลลีกที่มีการรับชมผ่านทางทีวี 3 อันดับแรก คือ การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ร้อยละ 30.1 ขณะที่รองลงมา คือ การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ร้อยละ 29.8 และการแข่งขันฟุตบอลลาลีกาลีกของสเปน ร้อยละ 19.6

หมายความว่าคนไทยดูบอลไทยมากกว่าบอลอังกฤษที่นิยมกันแบบฝังรากลึกมานานเป็นสิบปีจนได้ครับ

thailandteam

ถ้าจะวิเคราะห์ว่าทำไมคนดูบอลไทยถึงแซงหน้าบอลอังกฤษในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นตามนี้ครับ (เชิงธุรกิจล้วนๆ)

  1. การที่ CTH ได้สิทธิถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกอังกฤษในช่วงสามปีที่ผ่านมา รู้ๆ กันดีครับว่าช่องทางการรับชมค่อนข้างจำกัด น้อยคนนักครับที่ยกเลิก Truevision ไปเป็นสมาชิก CTH จุดนี้ทำให้คนดูบอลอังกฤษบางส่วนหายไปและหันมาดูบอลไทยผ่าน Truevision แทน (งานนี้ทรูฯยิ้มอ่อนไป)
  2. ช่วงเวลาที่บอลไทยแตะหัวค่ำ เป็นเวลาเดียวกับที่พรีเมียร์ลีกอังกฤษบางคู่เตะพอดี กว่าจะได้กลับบ้านหรือหยิบรีโมทเปลี่ยนช่องก็จบพอดี เสียฐานคนดูไประดับหนึ่งเลย (ประเด็นนี้ขอบคุณป๋าโย สมชาย งามวรรณกุล เจ้าของแฟนเพจ Drama Thai Football แฟนตัวยงทีมกิเลนผยอง ที่ชี้แนะ)
  3. บอลไทยมันจับต้องได้มากกว่าครับ อยากเจอตัวนักเตะก็ไปเจอที่สนาม บอลอังกฤษต้องนั่งเครื่องบินไปดู คนที่ไม่เคยสัมผัสกีฬาฟุตบอลอังกฤษมาก่อน อย่างกลุ่มผู้หญิงและเด็ก (รวมถึงผู้สูงอายุ) จึงเลือกเปิดรับคอนเทนท์ฟุตบอลไทยก่อนจากสื่อที่โหม

mui

ขณะที่ผลสำรวจยังบอกว่า การรับชมการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 62.8 เนื่องจากมีความเห็นว่านักเตะไทยมีคุณภาพมากขึ้น (ร้อยละ 37.4) รองลงมา คือ พัฒนาการของทีมฟุตบอลไทยดีขึ้น (ร้อยละ 29.3) มีการจัดการแข่งขันที่เป็นระบบเหมือนต่างประเทศ (ร้อยละ 14.8) และมีนักเตะต่างชาติเข้ามาเล่น (ร้อยละ 9.5) เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดว่า ในปี 2559 นี้ การเติบโตของฟุตบอลของไทยจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท!!

โดยส่งผ่านมายังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างการลงทุนในการทำทีมฟุตบอล สื่อโทรทัศน์ อุปกรณ์กีฬา สินค้าเสื้อกีฬาและของที่ระลึก ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจคมนาคมขนส่ง สถาบันสอนกีฬา และยังก่อให้เกิดการจ้างงาน และการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

jj

จุดนี้ต้องยอมรับว่าการที่นักเตะไทยส่วนใหญ่ในทีมชาติชุดนี้ (รวมถึงทีมเอสซีจีเมืองทองยูไนเต็ด) หน้าตาค่อนข้างดี (ฝีเท้าก็ดีด้วย) ทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดได้โดยง่าย และรสนิยมของคนไทยที่นิยมปั้น “ไอดอล” จากวงการต่างๆ ทำให้มูลค่าทางธุรกิจที่เกิดจากฟุตบอลไทยเติบโตขึ้น

ถ้าติดตามฟุตบอลต่างประเทศจะพบว่านักฟุตบอลดังๆ ทั้งหน้าตาดีและไม่ดี (แต่เก่งหรือมีคาแรกเตอร์ชัดเจน) ก็จะได้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่างๆ และมักตกเป็นข่าวที่อยู่นอกเหนือหน้ากีฬา อย่างเช่นเป็นแฟนกับดารานักร้องนางแบบ คนนั้นคนนี้ ยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับนักเตะเข้าไปอีก ซึ่งประเด็นนี้นักเตะไทยเดินตามรอยเรียบร้อยแล้ว (ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าใครนะ)

oum

แม้ฟุตบอลไทยจะเดินหน้ามาได้ขนาดนี้ แต่ส่วนตัวยังอยากเห็นพัฒนาการของตัวสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่ต้องพัฒนาด้านการตลาดมากขึ้น ตามรอยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นเลยก็ได้ ที่นัดชนกับทีมชาติไทยก็ขนเสื้อแฟนคลับมาขายและมีช็อปขายของที่ระลึกใจกลางกรุงโตเกียว ส่วนสโมสรเองตั้งแต่ระดับพรีเมียร์ลีกจนถึงดิวิชั่นสองต้องพัฒนาแบรนด์ของตัวเองต่อไปด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับทีมชาติญี่ปุ่นวันนี้ (6 กย.) รวมถึงนัดอื่นๆจะเป็นอย่างไร ฟุตบอลไทยก็เดินหน้ามาไกลมากแล้วทั้งในแง่ของเชิงกีฬาและธุรกิจ ส่วนตัวไม่ได้อยากให้มันเป็นเพียงแค่เทรนด์ที่กำลังมาแรง แต่อยากให้ฟุตบอลไทยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยเช่นเดียวกับคนในยุโรปที่แม้เศรษฐกิจจะแย่หรือดี การเมืองจะเป็นอย่างไร ฟุตบอลคือลมหายใจของพวกเขา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อดีตนักข่าวสายการเงินและตลาดหุ้นประจำสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สนใจเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในโลกการเงินเป็นพิเศษ ปัจจุบันเป็น Head Creative ที่ Super Trader และ COO ที่ Stock Quadrant ฟินเทคด้านการวิเคราะห์หุ้น มีอะไรคุยกันได้ที่เพจ Monkey Money และ @Nares_SPT