เปิดนวัตกรรมแป้งมันสำปะหลังฝีมือคนไทยที่รักษ์โลก สู่ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอาหาร

เป็นการวิจัยนานร่วม 10 ปี สำหรับการพัฒนาถุงพลาสติกสลายตัวจากขยะอินทรีย์และกลายเป็นปุ๋ยลงดิน โดยการใช้แป้งมันสำปะหลัง นวัตกรรมใหม่ฝีมือของคนไทย และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะอาหารจากขยะทั่วไป 

ขยะจากอาหาร (Food Waste) นับว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย เพราะเป็นขยะที่เกิดขึ้นในสังคมมากกว่า 60% จากขยะทั้งหมด การพัฒนาถุงพลาสติกสลายตัวจากขยะอินทรีย์หรืออาหาร จึงมีความสำคัญอย่างมากนั่นเอง

จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช.

จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. เล่าว่า ปัญหาขยะพลาสติก กลายเป็นประเด็นสำคัญทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดของโลก

สาเหตุสำคัญมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มีอัตราส่วนที่มากขึ้น 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือที่มาของความร่วมมือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาถุงพลาสติกสลายตัวสำหรับขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นสูตรพลาสติกชีวภาพโดยใช้วัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง

โดยร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (TBiA) และบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ ประเทศไทย จำกัด และบริษัทบีเอเอสเอฟ (ไทย) ผู้สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัททานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัวได้ ใช้ระยะเวลานานกว่า 10 ปี สำหรับการพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้

งานวิจัยจุดเจ๋งของนักวิทยาศาสตร์ไทย

วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าว่า เราเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปลงสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังผสานกับการใช้เทคโนโลยี ตอนนี้มีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1 % ของการใช้พลาสติกทั้งหมด

การที่คิดค้นถุงพลาสติกสลายตัวสำหรับขยะอินทรีย์ ในต่างประเทศจะใช้แป้งข้าวโพด ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง ขณะที่ประเทศไทยพัฒนาจากแป้งมันสำปะหลัง มีต้นทุน 12-13 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อผลิต 9,800 ใบ ต้นทุนโดยเฉลี่ย 30 บาทต่อใบ

แต่หากผลิต 14,000 ใบ ต้นทุนจะเหลือ 4.50 บาทต่อใบ และหากมีการใช้งานแพร่หลายเพิ่มขึ้น ปี 2563 จะเริ่มขยายการใช้งานไปสู่ศูนย์การค้าต่างๆ คาดการณ์ว่า ราคาถุงพลาสติกสลายตัวสำหรับขยะอินทรีย์ ราคาจะเหลือเพียง 2.50 บาทต่อใบ

ความยากของการพัฒนาแป้งมันสำปะหลัง ไม่มีความคงทนเพื่อถูกน้ำ โจทย์อยู่ที่ต้องพัฒนาให้คงทน จึงพัฒนาให้อยู่ในเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST

ระยะเวลาการย่อยสลายในดินของถุงพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลัง

ถุงพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลังโดดเด่นยังไง

  • คุณสมบัติย่อยสลายได้เร็วหากเทียบกับไบโอพลาสติก
  • หากอยู่ในอุณหภูมิปกติจะย่อยสลายภายใน 3 – 4 เดือน และยิ่งอยู่ในอุณหภูมิสูงจะยิ่งย่อยสลายเร็วขึ้น
  • เมื่อย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปุ๋ยในดินที่เป็นประโยชน์กับพืช

อุปสรรคการขับเคลื่อนพลาสติกชีวภาพ

  • ปัญหาในด้านต้นทุนการผลิต การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก
  • การพัฒนาถุงพลาสติกให้มึความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้งาน
  • การสร้างพฤติกรรมของคนสำหรับการใช้ถุงพลาสติกสลายตัวจากขยะอินทรีย์

ผลิตล็อตแรกใช้งานกาชาด

ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์ การผลิตล็อตแรกราว 14,000 ถุง จะถูกนำมาใช้งานกาชาดสีเขียว จัดขึ้นระหว่าง 15-24 พฤศจิกายน 2562 ที่ สวนลุมพินีเป็นงานแรก โดยมีด้วยกัน 2 ขนาด คือ ถุงหน้ากว้าง 18 นิ้ว สำหรับใช้ตามร้านอาหารและถุงหน้ากว้าง 30 นิ้ว สำหรับวางตามจุดคัดแยกมากกว่า 40 จุดทั่วงานกาชาด

การมีถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จักการแยกขยะที่เป็นอาหารมากขึ้น โดยภายในงานมีทีมจิตอาสาคอยให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องที่ทางกรุงเทพมหานคร จะนำไปบริหารจัดการขยะในโรงงานขยะต่อไป

สรุป

ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน ตอนนี้มึถุงพลาสติกสลายตัวจากขยะอินทรีย์แล้ว แม้ว่าจะมีต้นทุนราคาค่อนข้างสูงก็ตาม ดังนั้นโจทย์ที่หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต้องจับมือร่วมกัน เดินหน้าผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงในครัวเรือน จะช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกที่เป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ได้ลดลง แถมถุงพลาสสติกที่ผลิตจากมันสำปะหลัง ยังหมุนเวียนกลายเป็นปุ๋ยกลับลงไปในดินสร้างประโยชน์ได้อีก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา