#กินฟรีมีเกียรติ มีจริงไหม? ส่องโมเดลธุรกิจ นักรีวิวอาหาร ที่เริ่มจากความชอบสู่การมีรายได้

สืบเนื่องจากข่าวข้อพิพาทระหว่างร้านอาหาร กับกลุ่มรีวิวร้านบุฟเฟ่ต์ Brand Inside ชวนมาศึกษาโมเดลธุรกิจ นักรีวิวอาหาร ที่จริง ๆ ต้องได้กินฟรีอย่างในข่าวหรือไม่ และพวกเขาที่เริ่มจากความชอบจะมีโมเดลการทำเงินอย่างไร

นักรีวิวอาหาร

เริ่มต้นจาก Passion ค่าข้าวก็จ่ายเอง

เริ่มต้นด้วยข้อพิพาทระหว่างร้านอาหารบุฟเฟ่ต์รายหนึ่ง กับแอดมินกลุ่มบนเฟสบุ๊กที่เกี่ยวกับการรับประทานบุฟเฟ่ต์ที่มีผู้ติดตามเกือบล้านคน โดยทางร้านอาหารไม่ยอมให้บัตรเวาเชอร์อีก 2 ใบ ตามที่ทางตัวแทนของกลุ่มจำนวน 4 คนเรียกร้อง จนแอดมินของกลุ่มดังกล่าวข่มขู่ และเกิดข่าวขอกินฟรีอย่างที่เห็นในหน้าสื่อ

ล่าสุด แอดมินกลุ่มดังกล่าวถูกขุดประวัติจำนวนมาก และดูเหมือนว่า นักรีวิวอาหาร คือผู้ร้ายในเหตุการณ์นี้ เพราะผู้คนบนโลกออนไลน์ต่างเข้าไปให้กำลังใจร้านอาหารดังกล่าว และมองว่าทำไม่ นักรีวิวอาหาร ในข่าวต้องได้กินฟรีตามที่ตัวเองต้องการด้วย

แหล่งข่าวจากในอุตสาหกรรมรีวิวอาหาร เล่าให้ฟังว่า นักรีวิวอาหาร ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากความชอบของตัวเอง และมี Passion ในการส่งต่อความอร่อยของอาหารแต่ละมื้อให้ผู้อื่นรับรู้ ไม่ได้มองเรื่องธุรกิจนัก และเป็นปกติที่ต้องชำระเงินเองเพื่อได้คอนเทนต์มาชิ้นหนึ่ง

3 ระดับของ นักรีวิวอาหาร ที่แบ่งตาม Follower

เมื่อทำคอนเทนต์บ่อย มีผู้ติดตามมากกว่าเดิม และเริ่มทรงอิทธิพลทางความคิดของผู้บริโภค ก็ไม่แปลกที่ นักรีวิวอาหาร เหล่านั้นจะโด่งดัง และได้รับความเชื่อถือจากร้านอาหารต่าง ๆ จนเริ่มมีร้านเชิญไปรับประทาน หรือยอมจ่ายเงินเพื่อให้พวกเขาไปที่ร้าน ซึ่งระดับของ นักรีวิวอาหาร แบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้

  • Foodie ระดับอยากบอกเล่า-บอกต่อเรื่องราว ไม่ได้มองมุมธุรกิจ และไม่มีผู้ติดตามมากนัก
  • Nano/Micro Influencer มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000-50,000 คน มีทั้งกลุ่มจริงจังกับการสร้างรายได้ และทำด้วย Passion ไม่สนเงิน โดยจะมีร้านอาหารเริ่มส่ง หรือเชิญไปรับประทานอาหาร
  • Macro Influencer มีผู้ติดตามตั้งแต่หลักแสนคนเป็นต้นไป บางรายทำด้วยตัวคนเดียว หรือเริ่มจดทะเบียนบริษัท ส่วนใหญ่จริงจังกับการสร้างรายได้

“คิดง่าย ๆ หากมีผู้ติดตามหลักหมื่นคน ให้ตัดศูนย์ทิ้งไปหนึ่งตัว นั่นคือค่าตัวของพวกเขา เช่นผู้ติดตาม 30,000 คน ค่าตัวของคนนั้นอาจอยู่ที่ 3,000 บาท ซึ่งตอนนี้ตลาด นักรีวิวร้านอาหาร ค่อนข้างบูม เพราะไม่มีใครเดินผ่านร้าน ร้านย่อมต้องการเอาร้านไปโผล่บนสื่อต่างๆ เพื่อสร้างยอดขายเดลิเวอรี และหลังคลายล็อกดาวน์”

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องปกติที่ นักรีวิวอาหาร มักจะส่งอีเมล หรือสื่อสารช่องทางอื่น ๆ กับร้านอาหารดัง เพื่อติดต่อเข้าไปขอรีวิว และเหมือนจะเป็นที่เข้าใจตรงกันว่า หากร้านตอบตกลง การรับประทานอาหารมื้อนั้นต้องฟรี ซึ่งจริง ๆ แล้วความฟรีนั้นมีค่า เพราะหาก นักรีวิวอาหาร มีผู้ติดตามเยอะ โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นยอดขายก็มากขึ้น

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า อะไรจะหายไปอย่างหนึ่งไม่ได้

“นักรีวิวอาหาร กับร้านอาหาร เหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า อะไรจะหายไปอย่างหนึ่งไม่ได้ และผมเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการร้านอาหารมี Marketing Mindset พวกเขาไม่ได้มองอีเมลขอรีวิวร้านอาหาร เป็นการขอกินข้าวฟรี เพราะเขาจะมองว่ามันคุ้มหรือไม่ที่จะให้ นักรีวิวอาหาร คนนั้นมารีวิวอาหารเพื่อช่วยโปรโมท และเปลี่ยนเป็นยอดขายได้จริง”

ปัจจุบันมี นักรีวิวอาหาร มากมายที่โดดเด่นในตลาด ทั้งที่ทำแบบส่วนตัว เช่น กินกับพีท, itan แทนไร้เทียมทาน และ พยูนบูด ตะลุยกิน รวมถึงการเติบโตจนเริ่มจดทะเบียนเป็นบริษัท เช่น StarvingTime และ ถนัดชิม ซึ่งพวกเขามีใบราคา หรือ Rate Card ชัดเจนว่า ผู้จ้างจะให้ทำอะไร ต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร เช่นถ่ายรูปนิ่งกับอาหาร หรือต้องทำเป็นวีดีโอ เป็นต้น

กรณีที่น่าสนใจคือ บริษัท กู๊ดดีล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด หรือที่รู้จักในชื่อ Good Day Offcial เจ้าของเพจ เสือร้องไห้ และอื่น ๆ ที่มีผู้ติดตามหลักล้าน โดยแหล่งข่าวคนเดิมระบุว่า ใน Rate Card ของ เสือร้องไห้ หากต้องการให้พวกเขาไปถ่ายคลิปรีวิวอาหารที่ร้าน จะมีค่าใช้จ่ายตอนละ 7 แสนบาท หรือแม้แต่ช่อง SAUCE Channel ที่มีผู้ติดตามแค่แสนกว่าคน หากต้องการสนับสนุนรายการอาจจะมีค่าใช้จ่าย 3-4 แสนบาท

มี บุคคล บริษัท แล้ว เฟสบุ๊กกรุ๊ป เป็นอย่างไร

“กรณีร้านบุฟเฟ่ต์ กับกลุ่มดังกล่าว ผมมองว่ามันเป็นการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน เจ้าของร้านอาจมีมาตรฐานชัดเจน จะรายไหนมาก็ให้ 2 ใบเหมือนกันหมด แต่เจ้าของกลุ่มอาจมองว่าตัวเองมี Media Value มากว่าค่าเวาเชอร์แค่ 2-4 ใบ มันน่าจะจบเรื่องได้หรือเปล่า ซึ่งผมว่าจริง ๆ Media Value ของเขาก็มีค่ามากกว่าเวาเชอร์จริง ๆ”

ในทางกลับกัน ด้วยความเข้าใจ เฟสบุ๊กกรุ๊ป ยังไม่มีไม่มาก หากเทียบกับเฟสบุ๊กเพจต่าง ๆ ทางร้านอาจมองคนละแบบก็ได้ ซึ่งแหล่งข่าวคนเดิมย้ำว่า เฟสบุ๊กกรุ๊ป ค่อนข้างมีอิทธิพลสูง ยิ่งในกลุ่มเจ้าของกลุ่ม เพราะเป็นคนอนุญาตให้คอนเทนต์ที่สมาชิกในกลุ่มเขียนจะแสดง หรือไม่แสดงก็ได้

ทั้งนี้ตลาดร้านบุฟเฟ่ต์ในปัจจุบันเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะผู้บริโภคไม่ได้ไปร้านแบบนี้มานาน ไม่ว่าจะเป็น Mo-Mo-Paradise ที่มีคนต่อคิวหน้าร้านจำนวนมาก หรือ Copper Buffet ที่ยอดจองเต็มไปถึงสิ้นเดือน ต้องดูกันว่าจากข่าวข้างต้น ร้านบุฟเฟ่ต์ดังกล่าวจะได้รับอานิสงส์นี้ด้วยหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา