สมรภูมิรับส่งอาหารเดือด ผู้ให้บริการนับ 10 รายยอมกรีดเลือด เร่งขยายฐานลูกค้า

ไม่รู้ว่าคนไทยขี้เกียจ หรือต้องใช้ชีวิตรีบเร่งมากกว่าเดิม เพราะตอนนี้ธุรกิจรับส่งอาหารนี่บูมในประเทศไทยมากจริงๆ ผ่านผู้เล่นในตลาดกว่า 10 ราย ดังนั้นจะเรียกว่าแข่งเดือดก็คงไม่แปลกนัก เพราะแต่ละรายเล่นบี้ราคากันสุดๆ

ทุนต่างชาติเดินเกม ใช้จุดแข็งเครือข่ายร้านอาหาร

แต่ทั้งหมดนี้จะบูมขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีทุนต่างชาติอย่าง Foodpanda มาเปิดตลาดบริการรับส่งอาหารผ่าน Application ในประเทศไทยเมื่อปี 2557 ผ่านการจับมือกับร้านอาหารที่มีสาขาจำนวนมาก และร้านอาหารแบรนด์ดัง เช่น Subway และ BonChon ก่อนที่ปัจจุบันจะขยายไปยังร้านอาหารประจำชาติต่างๆ เช่นอาหารอิตาลี หรือเลบานอน จนมีร้านอาหารในระบบหลักพันร้าน และคิดค่าส่งเริ่มต้น 40 บาท (ค่าอาหารจ่ายตามจริง) มีพื้นที่ให้บริการอยู่ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด เช่นภูเก็ต กับเชียงใหม่ ที่สำคัญผู้ให้บริการรายนี้ยังส่งโปรโมชั่นเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่นฟรีค่าส่ง เป็นต้น

ที่สำคัญผู้บุกเบิกตลาดไทยรายนี้ยังครองตลาดมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีเต็ม ก่อนที่จะมีคู่แข่งเข้ามาเป็นทุนต่างชาติด้วยกัน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คงไม่พ้น LINE Man บริการรับส่งของทุกชนิดจาก LINE แต่ใช่ว่ายักษ์ใหญ่บริการแชทในไทยจะทำเองไปเสียหมด เพราะได้ร่วมมือกับ Lalamove เพื่อให้ทางนั้นมาดูแลเรื่องสายส่งให้ รวมถึงให้ Wongnai ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 2 แสนร้าน มาช่วยเชื่อมต่อข้อมูล จนทำให้บริการ Line Man กลายเป็นรายที่แข็งแกร่งที่สุดในประเภทร้าน Street Food โดยคิดราคาเริ่มต้นที่กม. แรก 55 บาท จากนั้นเพิ่ม 9 บาท/กม. ส่วนค่าอาหารจ่ายแยกเช่นกัน

ไม่ใช่แค่นั้น เพราะฝั่งธุรกิจเทคโนโลยีรับส่งอย่าง Uber และ Grab ก็ลงมาเล่นด้วย โดยยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกานั้นมากับบริการ UberEATS โดยเน้นที่ร้านอาหารระดับกลางถึงบน เช่นครัวอัปสร และสัมตำคอนแวนต์ รวมถึงไม่คิดค่าบริการขนส่ง และเป็นอีกครั้งที่ Uber ให้บริการขนส่งด้วยรถมอเตอร์ไซค์ หลังจากก่อนนี้รับส่งคน และถูกกรมการขนส่งทางบกเล่นแง่ทางกฎหมายไปตามระเบียบ ส่วนฝั่ง Grab ก็เดินเกมมาระยะหนึ่งแล้วกับ บริการ Grab Delivery ที่คิดค่าบริการกม.แรก 25 บาท หลังจากนั้นคิดเพิ่ม 8-14 บาท และสามารถฝากซื้ออาหารร้านไหนก็ได้ เพียงแต่ขอให้ราคารวมกันไม่เกิน 1,000 บาท

นอกจากนี้ Grab ยังรับงานให้กับ Foodpanda ผ่านการเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อเติมเต็มสายส่งในระยะเวลาเร่งด่วน รวมถึงขยายพื้นที่ให้บริการได้กว้างขึ้น

Startup ไทยสายขนส่งชูความ Local ดึงลูกค้า

ในทางกลับกัน Startup ไทยที่ให้บริการด้านขนส่งเอกสาร ก็หันมารับงานฝากซื้ออาหารกันมากขึ้น มีทั้งรับงานเอง และเซ็นสัญญารับงานให้กับผู้ให้บริการส่งอาหารรายต่างๆ ถ้าให้ไล่ตามการสนับสนุนโดยโอเปอเรเตอร์ก็มี Send Ranger (Rush Bike เดิม) ที่มี AIS เป็นแบ็คอัพ และมีพนักงานส่งกว่า 1,200 คน ทำให้การันตีการรับส่งเสร็จสิ้นภายใน 60 นาที ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพ และนครราชสีมา คิดราคาเริ่มต้น 77 บาท หลังจากนั้นคิดเพิ่ม 13 บาท/กม. ส่วนที่สนับสนุนโดย dtac ก็คือ Skootar คิดค่าบริการเริ่มต้น 70 บาท จากนั้นคิดเพิ่ม 10 บาท/กม. ขอแค่สั่งอาหารไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น

ภาพ pixabay.com

และทางกลุ่มทรู ก็มีการสนับสนุน Sendit ที่เดิมเป็นบริการขนส่งของธุรกิจในเครือ เช่น Wemall และ Weloveshoping ได้ขยายออกมาสู่ตลาดใหญ่ ผ่านจุดเด่นเรื่องการการันตีสินค้าระหว่างส่งได้ตั้งแต่ 5,000-40,000 บาท แต่การรับส่งอาหารคงไม่ได้การันตีถึงขนาดนั้น นอกจากนี้ยักษ์ใหญ่ด้านขนส่งทางฮ่องกงอย่าง Lalamove ก็ให้บริการฝากซื้อ และส่งอาหารเช่นเดียวกัน โดยคิดค่าบริการฝากซื้อของ 25 บาท และของนั้นต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท ไม่รวมอัตราค่าบริการปกติที่คิดเริ่มต้น 48 บาท จากนั้นคิดเพิ่ม 7.2-14 บาท

แพลตฟอร์มรวมร้านอาหารเพื่อส่งถึงบ้านก็บูม

ทั้งนี้จากข้อความข้างต้น มีเพียง Foodpanda รายเดียวที่ให้บริการแพลตฟอร์มรวมร้านอาหารเพื่อจัดส่งถึงบ้าน และบริหารงานทั้งสายส่ง และข้อมูลร้านอาหารด้วยตนเอง ดังนั้นจากช่องว่างนี้ ทำให้บริษัทหลายรายอยากเข้ามาแข่งกับผู้ครองตลาดรายนี้บ้าง เริ่มต้นที่ Ginja (กินจ๊ะ) แพลตฟอร์มรวบรวมร้านอาหารเชนดัง เช่น BonChon และ Audrey Café & Bistroเพื่อจัดส่งให้ผู้พักอาศัยตั้งแต่อโศก ถึงพระโขนง โดยคิดราคาค่าบริการ 4.9% ของอาหารที่สั่ง รวมค่าส่งอีก 59 บาท และสามารถสั่งอาหารผ่าน Messenger ของ Facebook ได้ทันที ไม่ต้องเข้าเว็บไซต์

รวมถึง Zabdelivery ที่คิดค่าบริการในรูปแบบคล้ายๆ กับ Ginja และยังมี Dr.Food Delivery ที่รวบรวมร้านอาหารในจังหวัดสงขลา และส่งให้ถึงบ้านภายใน 40 นาทีอีกด้วย

ภาพ pixabay.com

10 รายในตลาดมากไปไหม แล้วใครได้ประโยชน์

ต้องบอกว่า 10 รายในตลาดนี่ถือว่ามากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะเกือบทั้งหมดจะเน้นให้บริการแค่ในเขตกรุงเทพ แล้วยิ่งทุกบริการนั้นแทบจะเหมือนกันหมดคือ ฝากซือสินค้าที่ร้านอาหารที่ตัวเองชอบ – รอ – และมาชำระเงินปลายทางด้วยเงินสดให้กับพนักงานส่ง (ถึงบางรายที่เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมร้านอาหารจะจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้) ดังนั้นความแตกต่างก็คงมีแค่ความน่าเชื่อถือในการรับส่งอาหารเท่านั้น แล้วยิ่งทุกรายมีการปล่อยโปรโมชั่นลดราคา เช่นฟรีค่าส่ง หรือลดค่าส่งในโอกาสพิเศษ ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันในตลาดนี้เดือดขึ้นไปอีก

ส่วนใครจะได้ประโยชน์ มองว่า ผู้บริโภคน่าจะได้ประโยชน์จากการมีคู่แข่งในตลาดจำนวนมากขนาดนี้ เพราะสามารถเลือกผู้ให้บริการที่คิดราคาถูก รวมถึงมีข้อมูลร้านอาหารอยู่ในระบบมากที่สุด เพื่อใช้บริการ ดังนั้นอนาคตเชื่อว่าต้องมีบางรายที่หายไปจากตลาดบ้าง ทั้งหายไปด้วยการถูกควบรวม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มรวมร้านอาหารในต่างจังหวัด ส่วนผู้ให้บริการรับส่งสินค้าก็คงทยอยลดบทบาทความสำคัญของบริการฝากซื้ออาหารลงไปบ้าง และเน้นไปที่คุณภาพในการให้บริการ Messenger มากกว่า เพราะบริการนี้ยังมีธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กถึงใหญ่รอรับบริการเหล่านี้อยู่

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา