ปี 2021 ยังเป็นปีที่ธุรกิจ Food Delivery เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ใช้บริการนี้เป็นกันแล้ว กดมือถือ จ่ายเงิน รอรับอาหารกินได้ และแน่นอนว่าเป็นธุรกิจที่การแข่งขันสูงจนน่ากลัว (แต่ก็นำมาซึ่งบริการที่ดีสำหรับผู้บริโภค) ครั้งนี้มาดูกันว่า รายได้ผลกำไรขาดทุนของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไรกันบ้าง
Grab รายได้โต ขาดทุนไม่มาก
ในฐานะเจ้าตลาดในเวลานี้ Grab สร้างการเติบโตขึ้นกว่า 56% มีรายได้ 11,375 ล้านบาท ขาดทุน 325 ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมา Grab โดนคู่แข่งเบอร์ 2 และหน้าใหม่เข้าทำตลาดอย่างหนัก คาดว่าปี 2022 จะเป็นอีกปีที่หนักหน่วงของ Grab เช่นเดิม
LINE MAN มาแรงแซงโค้ง
สำหรับ LINE MAN ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก เร่งหา rider คนขับและขยายบริการไปทั่วประเทศ เปิดบริการใหม่ๆ เช่น LINE Mart เรียกว่าเปิดแนวรบทุกด้าน มีรายได้ 4,140 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 288% ขาดทุน 2,386 ล้านบาท แม้จะขาดทุนอย่างหนัก แต่ก็เข้าใจได้เพราะบริษัทต้องการขยายธุรกิจอย่างมากและรวดเร็ว
disclaimer: brand inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai
Robinhood น้องใหม่ ใหญ่กว่าที่คิด
Robinhood ให้บริการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ที่กำลังเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เป็น SCBX โดยมีรายได้หลักกว่า 15 ล้านบาท ขาดทุน 1,335 ล้านบาท เป็นปีที่ Robinhood เข้าสู่การแข่งขันแบบเต็มปีและเต็มตัว ยังเปิดให้บริการได้ไม่ครอบคลุม ตอนนี้จุดเด่นของ Robinhood คือ ไม่คิดค่า GP กับร้านอาหาร แต่ก็เป็นโจทย์ว่าในอนาคต Robinhood จะหารายได้จากอะไรมาชดเชยรายจ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย โดยดูแนวโน้มได้จากผู้ให้บริการรายอื่น
ล่าสุดต้นปี 2022 Robinhood เปิดบริการใหม่ Robinhood Travel จองที่พักโรงแรม และยังคงไม่เก็บค่า GP อีกเช่นเดิม หลังการปรับโครงสร้างบริษัทแม่เป็น SCBX อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการทำธุรกิจจาก Robinhood มากขึ้น เพราะไม่ต้องติดกับกฎระเบียบของธนาคารและสถาบันการเงินแล้ว
จับตาน้องใหม่อีกราย Shopee Food
Shopee Food เป็นน้องใหม่ล่าสุดที่เข้าสู่ตลาดปี 2021 ให้บริการในเขตกรุงเทพเป็นหลัก จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นการทำตลาดที่รุนแรงมากนัก เชื่อว่าอยู่ระหว่างการเตรียมระบบเพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น สำหรับ Shopee Food มีรายได้ 407,420 บาท กำไร 274,527 บาท คาดว่าตัวเลขทางบัญชีอื่นๆ จะรวมอยู่ใน ช้อปปี้ ประเทศไทย หรือ ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส ยังไม่ได้แยกออกมาชัดเจน
ดูจากแนวโน้ม Shopee Food เป็นผู้ให้บริการที่น่าจับตามอง โดยเป็นแอพพลิเคชั่นอยู่ใน Shopee ที่เป็น e-commerce และอยู่ในเครือบริษัท SEA ผู้ให้บริการอีกหลากหลายบริการออนไลน์ เช่น เกมออนไลน์
Foodpanda ต้องรับศึกหนัก (6 มิ.ย.งบการเงินยังไม่ขึ้น)
Foodpanda งบการเงินปี 2021 ยังไม่ขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีรายได้ปีก่อนหน้านี้ 4,375 ล้านบาท ขาดทุน 3,595 ล้านบาท เชื่อว่าปี 2022 น่าจะมีการเติบโตขึ้น และขาดทุนมากขึ้นเช่นเดียวกับ Food Delivery เจ้าอื่น
ขณะที่น้องใหม่อีกรายที่ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวมากนัก คือ Airasia Food ซึ่งเป็นบริการในส่วนของ Airasia Super App ซึ่งมีการแถลงเปิดตัวไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่
สรุป ปีนี้ยังแข่งเดือด เชื่อมีการระดมทุนใหม่
ธุรกิจ Food Delivery เชื่อว่ายังแข่งเดือดไม่เลิกแน่นอน ทั้งในมิติการขยายความครอบคลุมของบริการไปทั่วประเทศ และการขยายบริการใหม่ๆ โปรโมชั่นต่างๆ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อดูจากตัวเลขการขาดทุนแล้ว เชื่อว่า จะมีการระดมทุนใหม่แน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา