Infor บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี ERP เผย ปี 2564 ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม จะปรับเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแหล่งที่มา ข้อมูลการผลิตต้องโปร่งใสตรวจสอบได้
หลังผ่านปี 2563 ที่ผู้ผลิตและธุรกิจในแวดวงต่างๆ ต้องเจอกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือและการดำเนินการทางธุรกิจเป็นอย่างมากเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านช่องทางการขายที่เป็นแบบ omni-channel หรือการปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น
วงการธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มเองก็มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดย Infor คาดการณ์เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้ผลิตอาหาร ปี 2564 ดังนี้
ใช้ข้อมูลมากขึ้น IoT และ Cloud เติบโตใน ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม
การจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้หลายบริษัทนำเทคโนโลยี Internet of Thing เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดการสูญเสียทรัพยากร
อย่างไรก็ตามการสำรวจพบว่ามีผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพียง 6% เท่านั้นที่นำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรและยังเป็นแค่ระยะเริ่มต้นที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างจำกัด การเก็บข้อมูลยังกระจัดกระจายไม่เป็นระบบและไม่เชื่อมโยงกันทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มที่
ในปี 2564 Infor คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตอาหารจะมีการหันมาใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลมากขึ้น เริ่มพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังธุรกรรมต่างๆ ในระบบ EPR ที่จะช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดการปัญหาต่างๆ ในกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้งานระบบ Cloud มากขึ้นเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความได้เปรียบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการ disrupt อุตสาหกรรมอาหารในอนาคต
ขายแบบ Omni-channel
การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมาทำให้ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มเคยชินกับการสั่งอาหารทางอินเตอร์เน็ตและบริการเดลิเวอรี่ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รูปแบบการรับรู้แบรนด์ของผู้บริโภคเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาติดต่อกับแบรนด์โดยตรง ให้ความสำคัญกับบริการด้านข้อมูลและคาดหวังที่จะได้รับการตอบกลับอย่างทันท่วงทีมากกว่าที่ผ่านมา
ในปี 2564 Infor มองว่า เพื่อเป็นการตอบรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจำนวนมากจะหันมาใช้ช่องการทางการแบบ omni-channel มากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคและส่วนแบ่งการตลาดที่อาจเปิดโอกาสไปสู่ตลาดดิจิทัลอื่นๆ ได้
นอกจากนี้การมี omni-channel ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือร้านค้าปลีกแบบที่ผ่านมา โดยสามารถติดต่อรับฟีดแบคและเก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้าได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์ม ทั้งยังสามารถต่อยอดโดยการนำเทคโนโลยีแชทบอทเข้ามาใช้เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคด้วยการตอบกลับข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่ใช่แค่คุณภาพที่ดีแต่ผู้บริโภคต้องรู้แหล่งที่มาและกระบวนการผลิตด้วย
อีกหนึ่งเทรนด์สำคัญที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มอุตสหกรรมอาหารและเครื่องดื่มคือเรื่องของความโปร่งใสในแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตอาหาร โดยผลสำรวจของผู้บริโภคชาวอเมริกาพบว่า 67% ของผู้บริโภคต้องการทราบทุกอย่างเกี่ยวกับอาหารที่ตนเองซื้อ ขณะที่ 46% ระบุว่า รายละเอียดในผลิตภัณฑ์อาหารมีอิทธิพลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อ
กระแสการให้ความสำคัญต่อแหล่งที่มาของอาหารที่มีมากขึ้นส่งผลให้บริษัทและธุรกิจค้าปลีกในแวดวงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหลายรายเริ่มมีการปรับตัวและให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น การขอรายงาน food waste ใน supply chain ของ Tesco, การพัฒนา Aldi Transparency Code เพื่อเพิ่มความไว้ใจในแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์แปรรูปของ Aldi, หรือการเริ่มนำ GSi Digital Link ที่เป็นรหัสสากลสำหรับแสกนข้อมูลมาให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ของ Walmart และ Cerrefour ในปีที่ผ่านมา
การเพิ่มขึ้นของกระแสการตรวจที่มาของอาหารทำให้ Infor คาดการณ์ว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะมีการพัฒนารูปแบบการตรวจสอบแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตที่หลากหลายและขยายขอบเขตครอบคลุมผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ มากขึ้น ทั้งยังมองว่าวิธีการนี้จะกลายมาเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความแตกที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะเลือกใช้อีกด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา