FN Outlet คือร้านจำหน่ายสินค้าทั้งเสื้อผ้า และของใช้ต่าง ๆ ในราคาคุ้มค่า ลูกค้าหลักคือคนกรุงเทพที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด และนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปัจจุบันลูกค้าทั้งสองกลุ่มแทบไม่มี แล้ว FN Outlet ต้องปรับตัวอย่างไร
ปรับตัวลุยออนไลน์ ทำรถวิ่งหาลูกค้าเอง
อย่างแรกที่ FN Outlet หรือ บมจ. เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท ทำมาตั้งแต่ช่วง COVID-19 ระบาดอย่างหนักเมื่อปลายไตรมาส 1 2020 คือการรุกตลาดออนไลน์อย่างเข้มข้น ทั้งเปิดแพลตฟอร์มขายออนไลน์ของตัวเอง, ร่วมมือกับ Marketplace ต่าง ๆ ทั้งยังผลิตสินค้าที่เหมาะกับการขายออนไลน์ และสินค้าเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อโรคมากขึ้น
แต่แค่นั้นคงยังไม่พอ เพราะ FN Outlet มีการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาคือ Tanjai (ทันใจ) หรือรถเร่ขายสินค้าของบริษัท ตั้งแต่ปลายปี 2020 ถือเป็นช่องทางที่น่าสนใจของบริษัท เพราะก่อนหน้านี้ FN Outlet เปิดร้านรอให้ลูกค้าเข้ามาหา แต่คราวนี้เป็น FN Outlet ที่วิ่งเข้าไปหาลูกค้าด้วยตัวเอง
และด้วยการผลิตสินค้าใหม่ ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน กับ สินค้าสำหรับเด็ก และผู้สูงอายุ ทำให้บริษัทหันมารุกตลาดค้าส่งสินค้าไปยังร้านค้าในจังหวัดต่าง ๆ ช่วยเพิ่มโอกาสการขาย และได้เจอกับลูกค้ากลุ่มใหม่ แม้จะไม่ได้ช่วยให้รายได้รวมเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถือเป็นการปรับตัวที่จำเป็นต่ออนาคตธุรกิจ
รายได้รวมยังลด เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวไทย-เทศ
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ การปรับตัวต่าง ๆ ยังไม่สามารถช่วยเหลือภาพรวมธุรกิจของ FN Outlet ได้มากนัก โดยรายได้รวมครึ่งแรกปี 2021 ของบริษัทอยู่ที่ 277 ล้านบาท ลดลง 22% จากปีก่อนหน้านี้ และขาดทุนสุทธิ 27 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 4 แสนบาท
เมื่อมาดูสัดส่วนรายได้ช่วงครึ่งแรกปี 2021 ของ FN Outlet จะพบว่า บริษัทมีรายได้หลักจากหน้าร้านทั้ง 12 แห่ง ถึง 175 ล้านบาท รองลงมาเป็นช่องทางดิจิทัล 62 ล้านบาท และค้าส่ง กับ Tanjai อีกธุรกิจละ 4 ล้านบาท ที่เหลือมาจากการเก็บค้าเช่าจากผู้ค้า และสินค้า Virus Buster
สำหรับสาขาทั้ง 12 แห่งของ FN Outlet แทบจะตั้งอยู่บนพื้นที่สีแดงทั้งหมด เช่น กรุงเทพฯ, ชลบุรี, กาญจนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ระยอง และสงขลา เป็นต้น ดังนั้นการเปิดร้านเพื่อให้เข้ามาใช้บริการจึงแทบเป็นไปไม่ได้ และถึงจะเริ่มทยอยปลดล็อคแล้ว บรรยากาศการจับจ่าย และท่องเที่ยวคงต้องรออีกระยะหนึ่งถึงจะกลับมา
รู้จักจุดเริ่มต้นของ FN Outlet
FN Outlet ก่อตั้งปี 2000 ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการสร้างธุรกิจ Outlet ในยังไม่มีในประเทศไทยให้เกิดขึ้น แต่เกิดจากช่วงที่ Fly Now แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยประสบปัญหาธุรกิจ จึงนำโรงงานที่จังหวัดเพชรบุรีมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าในสต๊อก แล้วมีผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงต่อยอดเป็นกิจการ Outlet เต็มตัว
กลยุทธ์ในการขยายสาขาของ FN Outlet คือการวางสาขาให้มีขนาดใหญ่ มองเห็นชัดจากเส้นทางหลัก ที่สำคัญคืออยู่บนเส้นทางขาเข้า-ออกจากกรุงเทพไปจังหวัดต่าง ๆ เพราะทุกครั้งที่ไปเที่ยวมักต้องซื้อของฝากให้ตัวเอง หรือผู้อื่น และหากไม่ซื้อจริง ๆ FN Outlet ยังเป็นอีกจุดแวะพักเหนื่อยผ่านการมีร้านอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ ให้บริการ
และการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญในการระดมทุนเพื่อไปขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ที่น่าสนใจ แต่อย่างที่รู้กันว่าเวลานี้คงไม่เหมาะ และ FN Outlet คงทำได้แค่ประคอง 12 สาขานี้ให้อยู่พร้อมบริการ และพยายามรุกตลาดดิจิทัล กับขายตรงไปถึงลูกค้าโดยไม่ต้องรอให้มาหา
สรุป
ถือเป็นความยากของธุรกิจค้าปลีกช่วงนี้จริง ๆ เพราะจากเดิมแค่รอให้ลูกค้ามาหา ต้องพยายามเข้าถึงลูกค้าด้วยตัวเอง และต้องดูกันว่าปี 2021 FN Outlet จะปิดรายได้ที่เท่าไร เพราะจากเดิมที่ประคองหลักพันล้านบาทมาตลอด ในปี 2020 ลดลงเหลือ 758 ล้านบาท และครึ่งแรกของปีนี้ยังทำได้ไม่ถึงครึ่งของรายได้รวมปี 2020 เลย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา