แทบจะทุกอุตสาหกรรมอยากจะลืมปี 2559 ไปให้หมด เพราะเป็นปีที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยเสียจริงๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG ที่เติบโตเพียง 1.7% ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี
ผู้บริโภครัดเข็มขัด พร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ด้วยความเป็นสังคมเมืองเริ่มกระจายไปในต่างจังหวัด ทำให้พฤติกรรมทั้งการดำรงชีวิตอยู่ตัวคนเดียว หรืออย่างน้อยก็ 2 คน เริ่มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความฉลาดซื้อในการใช้จ่ายก็มีมากกว่าเดิม ผ่านข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตต่างๆ และคงไม่แปลกที่เมื่อรวมปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผู้บริโภคเคร่งเครียดเรื่องการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นการออกไปซื้อของเข้าบ้านน้อยลง, ลดจำนวนขนาดในการซื้อสินค้า จนไปถึงการซื้อสินค้าเฉพาะช่วง Sell เท่านั้น จนสินค้ากลุ่ม FMCG มียอดเงินสะพัดเติบโตลดลงในรอบ 8 ปี
อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าให้ฟังว่า การจับจ่ายใช้สอยของสินค้า FMCG ในปี 2559 มีมูลค่าราว 4.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 เพียง 1.7% เท่านั้น ถือเป็นการเติบโตที่น้อยที่สุดในรอบ 8 ปี และถ้าเจาะไปที่มูลค่าการเติบโตของแต่ละสินค้า ตัวกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มมีการเติบโตน้อยที่สุด หรือ 0.8% ส่วนสินค้าในครัวเรือนเติบโตราว 3.2% และสินค้าของใช้ส่วนบุคคลเติบโต 2.9% ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งประเทศไทย เพราะทุกภาคส่วนประสบปัญหาเรื่องเงินพอๆ กัน
“ปี 2559 มีผู้บริโภคกลุ่มที่อาศัยคนเดียว หรือ 2 คน เพิ่มสัดสวนจากปี 2552 ที่ 34.9% เป็น 38.4% ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2559 ถือเป็นกลุ่มเดียวที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่อยู่ 3-4 คน และ 5 คนขึ้นไป ขณะเดียวกันสัดส่วนในการจับจ่ายก็เป็นกลุ่มนี้กลุ่มเดียวที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มจากปี 2552 ที่อยุ่ 23.9% เป็น 27.6% ในปี 2559 ด้วย แต่ถ้าดูเรื่องสัดส่วนการอยู่อาศัยทั้งหมด กลุ่มครอบครัวที่อยู่กัน 3-4 คนยังเป็นสัดส่วนมากที่สุดที่ 42.1% ของครัวเรือนทั้งหมด และจับจ่ายคิดเป็นมูลค่า 44.8% ของมูลค่า FMCG ด้วย”
สินค้าต้องปรับ ถ้าไม่ทำอยู่ไม่รอด
ดังนั้นในปี 2560 จึงเป็นอีกความท้าทายที่สำคัญของการทำตลาดสินค้า FMCG เพราะต้องคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ต่างมีปัญหาเรื่องการเงินสะสมมาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม รวมถึงช่วงที่สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ โดยหนึ่งในวิธีที่น่าจะสำเร็จ คือการทำตลาดแยกตามเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่นกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มวัยทำงาน เพื่อสร้างความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถเพิ่มโอกาสความสำเร็จในแต่ละแคมเปญที่ปล่อยออกไปได้อีกด้วย นอกจากนี้การเลือกทำตลาดในจุดจำหน่ายก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
เนื่องจากปี 2560 ช่องทาง Hyper Market จะเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้น ผ่านความคุ้มค่าในการซื้อ และเมื่อผู้บริโภคเข้าไปก็สามารถซื้อได้จบในที่เดียว โดยเฉพาะกับสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน ในทางกลับกัน ร้านสะดวกซื้อกลับเริ่มลดบทบาทลง เพราะผู้บริโภคคิดในการจับจ่ายมากขึ้น และมองเรื่องความคุ้มค่ามากกว่า ส่วนฝั่งที่เป็นปัญหาในการทำตลาดคือ Supermarket ขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีเครือข่ายสาขาจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มร้านโชห่วย เพราะไม่มีความกว้างขวางในการทำ Marketing มากนัก
ทิชชู่, เบียร์ และการขายออนไลน์มาแน่
สำหรับสินค้าที่จะทำหน่ายได้ดีในปีนี้คือกระดาษทิชชู่ และเบียร์ เพราะเมื่อผู้บริโภคหันมาอยู่เป็นครอบครัวเล็กๆ และไม่ได้ทำกับข้าวกินเองมากนัก ทำให้กระดาษทิชชู่เริ่มมีความจำเป็นในการใช้งานมากขึ้น ส่วนสินค้าเบียร์นั้นเป็นสินค้ากลุ่มดาวรุ่ง เพราะแบรนด์ใหญ่หันมาปรับบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด จูงใจให้ผู้บริโภคซื้อกินในบ้าน แทนที่จะต้องออกไปสังสรรค์ข้างนอก ที่สำคัญผู้บริโภคก็ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเช่นกัน ขณะเดียวกันการที่ประเทศไทยเดินหน้าสู่ Thailand 4.0 ก็ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอีกช่องทางหลักของผู้บริโภคด้วย
สรุป
FMCG หรือสินค้าอุปโภคบริโภค ถือเป็นสินค้าจำเป็นของผู้บริโภค แต่การที่สินค้ากลุ่มนี้เติบโตลดลง แสดงให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างชัดเจน ดังนั้นคงต้องลุ้นต่อไปว่าการจับจ่ายสินค้า FMCG ปีนี้จะกลับมาเติบโตหรือไม่ และหนึ่งในปัจจัยหลักๆ ก็คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบของรัฐบาล ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้นด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา