ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ นอกจากบ้านเรือนเสียหายแล้ว ฝั่งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตรต้องเจอกับความเสียหายจากปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ระบุว่าพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 1.28 ล้านไร่ โดยเฉพาะข้าว และพืชสวน
เหตุผลที่เกิดการเสียหายนั้นอาจมาจากการไม่ได้เฝ้าระวังภัยพิบัติจากพายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีเพียงพอ จนหอการค้าไทยคาดการณ์มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้สูงถึง 29,845 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.17% ของ GDP
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง การฟื้นฟู และจัดการภัยพิบัติในภาคเกษตรจะต้องอาศัยงบประมาณกว่า 1.83 แสนล้านบาทในการบรรเทาความเสียหาย และฟื้นฟู แต่การแก้ไขเรื่องนี้อาจไม่จบแค่การเยียวยา และการมองไกลในระยะยาวผ่านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็จำเป็น
เทคโนโลยีกับการเกษตรต้องเป็นของคู่กัน
ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการเกษตร (Agriculture Hub) ในภูมิภาค แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ต้องอาศัยการสนับสนุน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับการทำเกษตร กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ได้วางแผนพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การใช้เครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ และการจัดการน้ำในพื้นที่เพาะปลูก
การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนได้ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น การใช้อุปกรณ์เซนเซอร์เพื่อวัดความชื้นในดิน หรือการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรจะต้องเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาล สถาบันวิจัย และภาคเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการจัดการภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรแล้ว รัฐบาลควรต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป (EU) และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และการลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดการเกษตรโลกได้อย่างยั่งยืน
เทคโนโลยีที่ช่วยเหลือเรื่องความยั่งยืน
แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 เป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพอาหารของประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ (New Breeding Technology – NBT) ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรสู่ความยั่งยืนต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในด้านการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการฝึกอบรมเพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวเข้ากับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรของไทย และยังช่วยป้องกันปัญหาการสูญเสียรายได้ที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติในอนาคต
เทคโนโลยีกับการเพิ่มขีดจำกัดในการแข่งขัน
ในอนาคต ภาคเกษตรไทยจะเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน และการแข่งขันในตลาดโลกที่เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และสร้างระบบการเกษตรที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถขับเคลื่อนภาคเกษตรไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนได้
การฟื้นตัวของภาคเกษตรหลังจากวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี และการจัดการที่ยั่งยืนต่อไป เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกหลังจากนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา