โลกของเรากำลังมี ‘ดาต้าเซ็นเตอร์ลอยน้ำ’ แห่งแรก คาดเปิดใช้งานจริงปี 2027
‘Mitsui O.S.K. Lines’ หรือ ‘MOL’ บริษัทขนส่งของญี่ปุ่น จับมือกับ ‘Kinetics’ บริษัทด้านพลังงานลอยน้ำครบวงจรจากตุรกี เตรียมสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ลอยน้ำแห่งแรกของโลก ที่ใช้พลังงานจากเรือโรงไฟฟ้าลอยน้ำ
แล้วทำไมต้องสร้างดาต้าเซ็นเตอร์กลางทะเล?
สาเหตุหลักๆ คือ โลกต้องการดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้มี AI คลาวด์ และอุปกรณ์ออนไลน์ที่ต้องใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลมหาศาล แต่การสร้างดาต้าเซ็นเตอร์บนบกกลับยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ดินมีจำกัด แถมใช้เวลาสร้างนานหลายปี
ข้อมูลจาก Precedence Research คาดการณ์มูลค่าตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกในปี 2025 อยู่ที่ 3.87 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 13.92 ล้านล้านบาท) และจะเติบโตถึง 1.01 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (ราว 36.31 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2034 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 11.24%
โดยมูลค่าตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ใน ‘อเมริกาเหนือ’ ปี 2024 สูงกว่า 1.43 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 5.13 ล้านล้านบาท) และกำลังขยายตัวที่ 11.38% ส่วนใน ‘เอเชียแปซิฟิก’ คาดว่าจะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่สูงที่สุด
การใช้งานที่เพิ่มขึ้นเยอะขนาดนี้ MOL กับ Kinetics เลยคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ลอยน้ำ โดยจะดัดแปลงเรือบรรทุกสินค้าที่ใช้งานแล้ว และใช้เรือโรงไฟฟ้าลอยน้ำของ Kinetics จ่ายไฟให้ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงได้หลายแบบ เช่น LNG ทำให้ยืดหยุ่น และเหมาะกับหลายพื้นที่
นอกจากนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์ลอยน้ำใช้เวลาสร้างเพียงปีเดียวเท่านั้น น้อยกว่าดาต้าเซ็นเตอร์บนบกที่อาจใช้เวลาสร้าง 5 ปี แถมยังย้ายไปจอดที่ในพื้นที่ใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องรื้อถอน หรือขอใบอนุญาตใหม่ให้วุ่นวาย
โปรเจ็กต์นี้จะเริ่มดัดแปลงเรือขนส่งยาว 120 เมตรในปี 2026 โดยจะมีขนาดการผลิตไฟฟ้าประมาณ 20-73 เมกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับแบบที่เลือกใช้ ส่วนระบบทำความเย็นจะใช้การดูดน้ำทะเลมาโดยตรง ประหยัดพลังงานได้มากกว่าการใช้แอร์หรือระบบปิดแบบเดิมๆ
ถ้าทดลองสำเร็จ จะต่อยอดไปใช้เรือขนส่งรถยนต์ที่มีพื้นที่มากกว่าเดิม ซึ่งอาจให้พื้นที่ใช้สอยใหญ่เทียบเท่าดาต้าเซ็นเตอร์บนบกขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
Mehmet Katmer ซีอีโอ Kinetics บอกว่าดีลนี้ คือการแก้ปัญหาคอขวดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และช่วยให้การขยายดาต้าเซ็นเตอร์ทำได้เร็วขึ้น สะอาดขึ้น และยืดหยุ่นมากขึ้น
ขณะที่ Tomoaki Ichida ผู้บริหารของ MOL ก็ย้ำว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนขยายธุรกิจของ MOL จากแค่การขนส่งไปสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม
ที่มา: MOL, Nikkei Asia, Break Bulk, Precedence Research
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา