fbpx
Home Article News Startup ไม่ใช่ได้เงินมาจะทำอะไรก็ได้ ดูอย่าง Flipkart ที่เอาเงินมาถลุงไปกับค่าตัวผู้บริหารจนเสี่ยงธุรกิจพัง

Startup ไม่ใช่ได้เงินมาจะทำอะไรก็ได้ ดูอย่าง Flipkart ที่เอาเงินมาถลุงไปกับค่าตัวผู้บริหารจนเสี่ยงธุรกิจพัง

Flipkart คือยักษ์ใหญ่ในวงการ E-Commerce ในประเทศอินเดีย และเพื่อแสดงแสนยานุภาพ จึงให้ค่าตอบแทนกับผู้บริหารระดับสูงแบบเยอะๆ เสียเลย แต่เมื่อมาคิดดูอีกทีแล้วมันใช่เหรอ

5.3 ล้านบาท กับ Startup อินเดีย

จากข้อมูลของ Tofler เว็บไซต์ฐานข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย รายงานว่า ระหว่างเดือนเม.ย. 2558 – มี.ค. 2559 ยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของประเทศอินเดียรายนี้ ให้ค่าตอบแทนกับผู้บริหารระดับสูง 6 คน รวมกว่า 44 ล้านดอลลาร์ (กว่า 1,600 ล้านบาท) รวมถึงจ่ายให้กับพนักงานส่วนอื่นๆ อีก 101 คน กว่า 1.5 แสนดอลลาร์ (ราว 5.3 ล้านบาท) ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเมื่อเทียบกับ Startup รายอื่นๆ ที่นั่น

ขณะเดียวกันไม่ได้มีแค่ค่าตอบแทนเท่านั้น ยังให้สิทธิ์ในเรื่องอื่นๆ ตามมาด้วย ทั้งการลาไปท่องเที่ยว, การให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นคงไม่แปลกที่ Flipkart จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จนกระทบกับงบการเงินของบริษัท และหากเป็นอย่างนี้ต่อไป เลือดคงไหลออกซิบๆ เรื่อยๆ

สำหรับรายได้ของปีปฏิทินบริษัท Flipkart Internet ผู้ให้บริการ Flipkart พบว่าขาดทุนกว่า 340 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) มากกว่าปีปฏิทิน 2558 เป็นเท่าตัว แม้รายได้ของบริษัทจะเติบโตถึง 140% คิดเป็นมูลค่ากว่า 287 ล้านดอลลาร์ (ราว 1 หมื่นล้านบาท) ก็ไม่สามารถชดเชยเลือดจำนวนมากที่ไหลออกมาได้ และปัจจัยนี้ส่งผลถึงการระดมทุนรอบใหม่ของยักษ์ใหญ่ E-Commerce รายนี้ด้วย

ภาพ pixabay.com

และเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายสำคัญในประเทศอินเดียอย่าง Amazon ก็ต่างกันลิบลับ เพราะ Stephen Walter หัวหน้าแผนกทรัพยากรณ์บุคคลของอินเดีย และจีน ที่ทำงานอยู่ที่อินเดียได้รับค่าตอบแทนที่ 6.3 แสนดอลลาร์ (ราว 22 ล้านบาท) และ Amit Agarwal หัวหน้า Amazon India ก็ได้รับค่าตอบแทน 4.6 แสนดอลลาร์ (ราว 16 ล้านบาท)

แต่ Mekin Maheshwari ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ของ Flipkart ได้ค่าตอบแทนสูงถึง 5.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 185 ล้านบาท) หรือสูงกว่าผู้บริหาร Amazon เกือบ 10 เท่าตัวเลยทีเดียว แม้จะมีอายุ 36 ปี และมีประสบการณ์การทำงาน 8 ปีก็ตาม

สรุป

ได้เงินมา ก็เอามาใช้กันให้ถูกเรื่อง เพราะการให้ค่าตอบแทนตนเองที่สูงเกินความจำเป็น ย่อมกระทบต่องบการเงินของบริษัท และเสี่ยงต่อการล้มละลาย และความน่าเชื่อถือที่หายไป ดังนั้นถือเป็นอีกบทเรียนสำคัญของวงการ Startup ที่ไม่ใช่ได้เงินจากนักลงทุนมา แล้วจะทำอะไรก็ได้

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา