เจาะ Gen Z ได้ก็เหมาทั้งครอบครัว! Lazada บอกคน Gen Z กว่า 35% มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ให้คนในครอบครัว

รู้หรือไม่ว่าถ้าเจาะลูกค้า Gen Z ได้ก็อาจหมายถึงสามารถแฮ็กระบบ ดึงลูกค้าทั้งครอบครัวมาเป็นของเรา! Lazada เผยอินไซต์คน Gen Z กว่า 35% มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ให้คนในครอบครัว

‘วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย เผยอินไซต์ของอีคอมเมิร์ซและภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมของอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจ Brand Inside สรุปมาให้อ่านกัน

หนึ่งในอินไซต์ที่น่าสนใจ คือ จริงๆ แล้วการเจาะลูกค้ากลุ่ม Gen Z ได้ก็เหมือนกับการแฮ็กระบบเข้าสู่ผู้บริโภคได้ เพราะว่าปัจจุบันผู้บริโภค Gen Z กว่า 35% ทำหน้าที่สั่งสินค้าออนไลน์ให้กับคนในครอบครัว

นอกจากนั้น คน Gen Z ยังเป็นคนกลุ่มที่เสพและติดตามเนื้อหาจาก Creator มากที่สุด โดยมากกว่า Gen อื่นๆ ถึง 1.7 เท่า

ส่วนในภาพรวมตอนนี้ ‘แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ’ ครองส่วนแบ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคกว่า 55% และคาดว่า ‘ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย’ จะเติบโตแตะมูลค่า 9 แสนล้านบาทภายในปี 2025

หมวดหมู่ยอดนิยมสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน เช่น เครื่องสำอาง สุขภาพ อาหารแห้ง

นอกจากอินไซต์แล้วในงาน Flight to Success with CEO ลาซาด้า ประเทศไทย ยังได้พาผู้บริหารมาแชร์ 4 เคล็ดลับสำหรับผู้ขายบน Lazada ด้วย

  1. สร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลให้ลูกค้า : เน้นความง่าย สะดวก และครบวงจร ตั้งแต่เครื่องมือค้นหาสินค้า ราคาสินค้า การชำระเงิน การจัดส่ง และบริการหลังการขาย ด้วยการใช้ AI ช่วย จะเห็นได้จากรายงานของลาซาด้าที่ระบุว่านักช้อป 71% ซื้อสินค้าที่แสดงผลจากฟังก์ชัน ‘สินค้าแนะนำ’ บนแพลตฟอร์ม
  2. สร้างเนื้อหาให้น่าสนใจ จับมือกับครีเอเตอร์-ชูเนื้อหาที่ตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะจากรายงานของ Euromonitor กลุ่มผู้บริโภค Gen Z มีแนวโน้มติดตามครีเอเตอร์ หรือ KOL เพื่อมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ 1.7 เท่า
  3. เสนอราคา-สินค้าให้ตรงความต้องการลูกค้า ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์อย่าง Lazada Seller Center ในการกำหนดราคา รักษาฐานลูกค้าเดิม และดึงดูดลูกค้าใหม่ รวมถึงเข้าร่วมแคมเปญอย่างสม่ำเสมอและใช้เครื่องมือโปรโมตผ่านสื่อภายนอก (Lazada Sponsored Media)
  4. บริหารจัดการสต็อกสินค้าให้พร้อมขายตามเทรนด์หรือฤดูกาล เช่น กรณีศึกษาร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้เพิ่มสินค้าที่ใช้มากในฤดูร้อน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ ทำให้มีอัตราการเข้าชมเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่า และยอดคำสั่งซื้อรวมพุ่งสูงขึ้นถึง 9 เท่า เมื่อเทียบระหว่างแคมเปญ 3.3 กับเดือนธันวาคม 2566

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา