สถิติการบินประจำปี 2017 พบสายการบินนำเครื่องจัมโบ้เจ็ทขึ้นบินน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

Airbus A380 ภาพจาก Airbus

Boeing 747 และ Airbus A380 ถือเป็นเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ระดับที่เรียกว่า “จัมโบ้เจ็ท” ที่นิยมในปัจจุบัน แต่จากสถิติการขึ้นบินล่าสุดพบว่า สายการบินใช้เครื่องบินจัมโบ้เจ็ทลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติการขึ้นบินของเครื่องบินจัมโบ้เจ็ททั้งสองรุ่น จะเห็นได้ว่า Boeing 747 มีจำนวนลดลงอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว ในขณะที่ Airbus A380 ที่ค่อย ๆ ไต่ระดับเพิ่มมาตลอดเริ่มจะทรงตัวในช่วงหลัง และถ้าคำนวณการเติบโตของเที่ยวบิน Airbus A380 จะเห็นได้ว่าในปีนี้มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุด และในปี 2018 เราอาจจะได้เห็นจุดเปลี่ยนแปลงของ A380

สถิติการขึ้นบินของเครื่องบิน Boeing 747 และ Airbus A380 ข้อมูลจาก Atlas

การแข่งขันจากสายการบินราคาถูก ทำให้สายการบินหลายแห่งต้องปรับตัวโดยทบทวนค่าใช้จ่ายใหม่ทุกอย่าง ด้วยขนาดที่ใหญ่มากของเครื่องบินระดับจัมโบ้เจ็ท ทำให้ทั้ง Airbus A380 และ Boeing 747 ต้องใช้เครื่องยนต์ถึง 4 เครื่องต่อเครื่องลำ ผลที่ตามมาคือเครื่องบินจัมโบ้เจ็ททั้งสองซดน้ำมันมาก ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สูง

แม้ว่าการเติมผู้โดยสารให้เต็มเครื่องจัมโบ้เจ็ทเพื่อกระจายค่าใช้จ่ายไปยังผู้โดยสารแต่ละคนจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับสายการบินขนาดใหญ่ที่มีจัมโบ้เจ็ทในฝูงบิน แต่ก็ยังยากกว่าการใช้เครื่องบินลำเล็กอยู่ดี ในช่วงหลังสายการบินจึงเริ่มหันไปหาเครื่องบินแบบ 2 เครื่องยนต์อย่าง Boeing 777 หรือ Airbus A330 แทน

ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับเครื่องบินระดับรองลงไป จะเห็นได้ว่าจัมโบ้เจ็ทมีอัตราการเติบโตที่น้อยลงหรือทรงตัว ในขณะที่เครื่องบินลำเล็กยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

สถิติการขึ้นบินของเครื่องบินรุ่นยอดนิยม ข้อมูลจาก Atlas

นอกจากเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายแล้ว สายการบินอาจเลือกกระจายผู้โดยสารจากจัมโบ้เจ็ทไปยังเครื่องบินลำที่เล็กลง เพื่อให้มีอำนาจควบคุมเวลาการใช้งานรันเวย์ในสนามบินได้เพิ่มมากขึ้น โดยถ้ามองในแง่การแข่งขัน การจองเวลารันเวย์ได้นานจะทำให้มีเวลาเหลือว่างให้คู่แข่งน้อยลง แม้ว่าคู่แข่งเหล่านั้นจะมีเครื่องบินลำใหญ่ก็ตามที

สถิติการขึ้นบินครั้งนี้ ก็ยิ่งออกมาเพื่อตอกย้ำข้อมูลเมื่อกลางปีที่ว่าจัมโบ้เจ็ททั้งสองรุ่นประสบปัญหาขายไม่ออก ในขณะที่เครื่องบินขนาดรอง ๆ ลงมากลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ที่มา – Quartz

Boeing 747

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ