ศึกษาตลาดโลจิสติก 2 แสนล้านบาทในไทย กับข่าวล่าสุดที่ Flash Express ร่วมทุน Nim Logistics

ในปีนี้ภาพรวมตลาดขนส่งสินค้า และพัสดุในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ที่มากขนาดนี้เพราะการเติบโตของ E-Commerce และนั่นอาจเป็นที่มาของการร่วมทุนระหว่างหน้าใหม่กับหน้าเก่าในตลาดมากขึ้น

Flash Express
Flash Express

ตลาดที่ขับเคลื่อนด้วย E-Commerce 3.2 ล้านล้านบาท

ก่อนหน้านี้โลจิสติก หรือบริการขนส่งสินค้า และพัสดุในประเทศไทยนั้นถูกขับเคลื่อนโดยธุรกิจค้าปลีก รวมถึงการนำเข้าส่งออกสินค้า แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริการโลจิสติกนั้นไม่ได้ถูกขับเคลื่อนแค่ 2 ธุรกิจข้างต้น แต่ยังรวมถึง E-Commerce หรือการค้าขายออนไลน์ที่ปัจจุบันมีเงินสะพัดถึง 3.2 ล้านล้านบาท

เมื่อเงินสะพัดสูงขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่บริการขนส่งสินค้า และพัสดุจะเติบโตตามไปด้วย เพราะเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ ก็ต้องมีการจัดส่งไปยังผู้รับ เช่น “ไปรษณีย์ไทย” ที่มีรายได้ปี 2560 ราว 28,000 ล้านบาท กับกำไรสุทธิ 4,200 ล้านบาท รวมถึง Kerry Logistic เองก็มีกำไรในปี 2561 เติบโตในประเทศไทยถึง 84%

Kerry Logistics
ภาพจาก Kerry Logistics

แต่นั่นเป็นเพียงแค่สองรายใหญ่ในตลาด เพราะปัจจุบันก็มีบริการขนส่งสินค้า และพัสดุรายย่อยเกิดขึ้นมามากมายเพื่อรองรับการเติบโตของ E-Commerce ประกอบกับผู้เล่นดั้งเดิมในตลาดก็ต้องปรับตัวเองเพื่อรองรับการเติบโตนี้เช่นกัน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้

การแข่งขันที่ดุเดือด และการควบรวมกันอาจเป็นอีกคำตอบ

อย่างไรก็ตามด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะเรื่อง “ราคา” ทำให้ทุกฝ่ายต่างต้องแบกรับต้นทุนเยอะขึ้น ทั้งธุรกิจขนส่งสินค้า และพัสดุนั้นต้องในคน และยานพาหนะจำนวนมาก ก็ทำให้การเข้ามาในตลาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่าง “คมสัน ลี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Flash Express ก็เคยบอกไว้ว่าไม่มีเงินถึง 5,000 ล้านบาทไม่ต้องเข้ามา

Flash Express
คมสัน ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Flash Express

“เมื่อตลาดมันเติบโต ใครๆ ก็อยากเข้ามาชิงแชร์ แต่ด้วยธุรกิจบริการขนส่งสินค้า และพัสดุมันไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น เพราะถ้าทำทั้งประเทศ และทำออกมาให้ดีจริงๆ ต้องมีเงินทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ถ้าน้อยกว่านั้นทำอย่างไรก็แข่งขันไม่ได้ หรือกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตลำบาก” คมสัน ลี กล่าว

ด้วยการแข่งขันที่มากขึ้นนี้ การตัดสินใจร่วมทุนกันก็อาจเป็นคำตอบ และนั่นคือที่มาของการร่วมทุนระหว่าง Flash Express กับ Nim Logistic (นิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์) หนึ่งในบริษัทขนส่งสินค้า และพัสดุเก่าแก่ของไทย ตั้งบริษัท Flash Logistic ผ่านความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของหน้าใหม่ รวมกับประสบการณ์ของหน้าเก่าเดินหน้าธุรกิจ

Nim Logistic
ศูนย์กระจายสินค้าของ Nim Logistic

200 ล้านบาท และอนาคตของบริการขนส่งสินค้า และพัสดุไทย

สำหรับตัวบริษัทใหม่นี้ ทั้งสองบริษัทได้ร่วมลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่บริษัทขนส่งสินค้า และพัสดุหน้าใหม่เดินหน้าธุรกิจร่วมกับผู้เล่นหน้าเก่าในตลาด ซึ่งในอนาคตก็อาจเห็นแบบนี้มากขึ้น เพราะอย่างในประเทศจีนมีบริษัทขนส่งสินค้า และพัสดุแค่หลักร้อยราย แต่ในไทยมีเป็นหมื่นรายทั้งๆ ที่พื้นที่ประเทศเล็กกว่าหลายเท่าตัว

“ในไทยมีบริษัทเล็กๆ ที่มีรถไม่กี่คันอยู่เยอะ ถ้าเรานำพวกเขามาอยู่ในแพลตฟอร์มกลางที่พร้อมกระจายงานขนส่งให้อย่างมีประสิทธิภาพ คล้าย Uber ที่จับความต้องการของผู้โดยสาร กับผู้ขับให้เจอกัน และจุดนั้นเองเราก็จะเติบโตไปด้วยกันกับพวกเขา ซึ่งคาดว่าจะผู้ประกอบการขนส่งมาอยู่กับเรา 4,000-5,000 รายในอีกไม่นาน” คมสัน เสริม

Flash Express
Flash Express

เมื่อผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มลดลงเพราะได้งานมากขึ้น คราวนี้ก็เหลือแค่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งไปรษณีย์ไทย, Kerry Logistic, Flash Express และ DHL ที่ต้องขยายตัวเองให้มากกว่าแค่บริการขนส่งสินค้า และพัสดุ เพราะในโลกของ E-Commerce นั้นยังมีอะไรอีกมากที่พวกเขาสามารถตอบโจทย์ได้

สรุป

พอรายใหญ่ต้องเป็นมากกว่าธุรกิจขนส่งสินค้า และพัสดุ คราวนี้ก็ต้องจับตาธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ทั้งบริการชำระเงิน, บริการจัดการคลังสินค้า หรือบริการจัดเตรียมสินค้าที่อยู่ในระดับรายย่อยจะถูกรายใหญ่กลืนกินไปอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ Flash Express น่าจะมีข่าวที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา