ความเครียดตัวทำลายนิสัยรักการอ่าน เรียนรู้ 5 วิธีอ่านหนังสืออย่างไรในวันที่ชีวิตมีแต่เรื่องกังวล

การอ่านเป็นกิจกรรมยามว่างที่ใครหลายๆ คนชอบทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาก่อนนอน ที่เรามักหยิบเอาหนังสือนิยายเล่มโปรด นิตยสารที่เราสนใจ หรือแม้แต่การอ่านบทความจากในหนังสือที่เราชอบก็ได้

ภาพจาก Unsplash โดย Joel Muniz

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง จนทำให้บริษัทต่างๆ ต้องอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ หลายคนพบข้อดีว่าการทำงานที่บ้านจะช่วยให้เรามีเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ที่ชื่นชอบมากขึ้น แต่เมื่อเราทำงานที่บ้านไปสักระยะ จึงพบว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้ช่วยให้เรามีเวลาทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นจริงๆ

ความเครียด ความกังวล ปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือ

โดยเฉพาะคนที่ชอบอ่านหนังสือ จะพบว่าแม้ว่าจะมีเวลาว่างสำหรับการอ่านหนังสือก็จริง แต่กลับไม่รู้สึกอยากอ่านหนังสือเหมือนที่เคยเป็น เพราะการทำงานที่บ้านสร้างความกังวลให้กับจิตใจ บางคนอาจต้องทำทั้งงาน ดูแลลูก ดูแลผู้สูงอายุในบ้านในเวลาเดียวกัน จนเกิดเป็นความเครียด และความกังวล ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกอยากอ่านหนังสืออย่างเลี่ยงไม่ได้

ไม่ใช่แค่ความเครียด หรือความกังวลขณะทำงานที่บ้านเท่านั้น แต่ความเครียดจากการทำงานในชีวิตปกติ ความเครียดจากการเรียน ปัญหาด้านการเงิน ก็ทำให้เกิดความกังวล ส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้ บางคนหากมีความเครียดสะสมเรื้อรัง อาจต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ จะดีกว่าการปล่อยไปเรื่อยๆ

ในอีกทางหนึ่งบางครั้งความรู้สึกอยากอ่านหนังสือที่ลดลง อาจเกิดจากความนิยมในการบริโภคสื่อผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเล่น Social Media หรือรับชมซีรีส์ต่างๆ ซึ่งสมองจะรับสื่อพวกนี้ได้ง่ายกว่าการอ่านหนังสือ

แต่อย่างไรก็ตามการบริโภคสื่อผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือโทรทัศน์ ก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี คือการสร้างความบันเทิง และผ่อนคลายความเครียดได้เสมอไป เพราะหากรับชมมากเกินไปอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลได้เช่นกัน

เทคนิคสร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มความอยากอ่านหนังสือ

การเลือกหนังสือขึ้นมาอ่านสักเล่มหนึ่งให้จบแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้จักเทคนิคในการสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านเสียก่อน โดยมีเทคนิคดังนี้

อ่านมากๆ ไม่ได้บ่งบอกคุณภาพเสมอไป

ในช่วงนี้เรามักเห็นกระแสการแข่งกันแชร์จำนวนหนังสือที่อ่านได้ในแต่ละปี แต่ในความจริงแล้วจำนวนไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพเสมอไป เพราะการอ่านที่ดีควรมาจากการอ่านสิ่งที่สนใจจริงๆ รวมถึงไม่จำเป็นต้องไปสนใจความรู้ ข้อมูล หรือจำนวนคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือ แต่ควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงอยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากกว่า เพื่อที่จะได้อ่านหนังสือเล่มที่ชอบจริงๆ

ลองใช้เวลาพิจารณาหนังสือเล่มที่อยากอ่านจริงๆ แล้วค่อยหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่าน จะดีกว่าการตามอ่านหนังสือตามคำแนะนำของคนอื่น ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้สนใจจริงๆ ก็ได้

ภาพจาก Unsplash โดย Christin Hume

อ่านแล้วไม่ชอบ หยุดอ่านได้ ไม่ใช่เรื่องผิด

แต่ถ้าใครเลือกหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านสักเล่มหนึ่งตามความสนใจแล้ว เมื่ออ่านไปหลายๆ หน้ากลับรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้สนุกอย่างที่คิด ก็สามารถหยุดอ่านกลางคันได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดแต่อย่างใด เพราะมันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจจริงๆ ก็ได้

หรือถ้าเป็นหนังสือเล่มที่ชอบ แต่อ่านไปเรื่อยๆ แล้วมีบางช่วงที่รู้สึกว่าการเล่าเรื่องอาจไม่ได้สนุกอย่างที่คิด ก็สามารถอ่านข้ามๆ บางย่อหน้าไปก็ได้ แต่ต้องระวังว่าการอ่านข้ามย่อหน้า หรืออ่านคร่าวๆ อาจส่งผลต่อการลำดับเรื่องราวที่ผู้เขียนหนังสือต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจ

ภาพจาก Unsplash โดย Siora Photography

หลีกเลี่ยงการอ่านเรื่องเครียดๆ

หลายคนใช้การอ่านเป็นกิจกรรม หรืองานอดิเรกในยามว่างที่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวันไปได้ ดังนั้นการเลือกอ่านหนังสือที่ทำให้เกิดความเครียด จึงอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เช่น หนังสือเกี่ยวกับโรคระบาด หนังสือเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพราะหนังสือเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นกว่าเดิม

ภาพจาก Unsplash โดย Priscilla Du Preez

สร้างบรรยากาศการอ่านที่ดี

ผู้ที่ชื่นชอบอ่านหนังสือหลายๆ คน มักสร้างบรรยากาศที่ช่วยสนับสนุนให้สามารถอ่านหนังสือได้ดี โดยเฉพาะการอ่านหนังสือในช่วงเวลาก่อนนอนประมาณ 40 นาที เพราะการอ่านหนังสือก่อนนอนจะช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น

ซึ่งบรรยากาศในการอ่านหนังสือ อาจเริ่มด้วยเครื่องดื่มที่ชอบ เก้าอี้ หรือเตียงที่มีหมอนหนุนหลัง นั่งสบาย และโคมไฟที่ให้แสงสว่างอย่างเพียงพอในการอ่านหนังสือ โดยจะต้องเป็นโคมไฟที่ไม่สว่างเกินไป แต่ต้องมีความรู้สึกสบายตามากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเมื่อยล้าเวลาอ่านหนังสือ

อยู่ในสังคมคนรักการอ่าน

ในปัจจุบันมีการใช้ Social Media ต่างๆ เป็นที่รวบรวมกลุ่มคนที่มีความชอบในรูปแบบเดียวกันมากมาย รวมถึงกลุ่มคนที่ชอบอ่านหนังสือด้วย ซึ่งการเข้าไปอยู่ในสังคมคนที่ชอบอ่านหนังสือ จะช่วยเพิ่มความรู้สึกอยากที่จะอ่านหนังสือ รวมถึงช่วยกันแนะนำหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่น่าสนใจตามความชอบของแต่ละคน

ที่มา – Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา