จุดพลิกอุตสาหกรรมฟิตเนส! เมื่อ COVID-19 ทำการออกกำลังกายออนไลน์บูมจนยิมต่างๆ เริ่มมีปัญหา

ธุรกิจฟิตเนสทั่วโลกมีปัญหามาตั้งแต่ต้นปี เพราะ COVID-19 ทำให้ยิมต่างๆ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ และมันอาจกลายเป็นจุดพลิกของอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ผ่านการที่ผู้เล่นรายไหนไม่ไปออนไลน์ เท่ากับว่าไปไม่รอดแน่ๆ

peloton
เครื่องปั่นจักรยาน Peloton

ธุรกิจฟิตเนสกับการเปลี่ยนแปลง

หากย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน กระแสรักสุขภาพ และการออกกำลังกายค่อยๆ เติบโต จนปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคหลายคนเริ่มมองข้ามไม่ได้ สังเกตได้จากการเกิดธุรกิจฟิตเนสใหม่ๆ ทั้งรายใหญ่ และรายย่อยที่ชูความแตกต่าง รวมถึงแบรนด์อุปกรณ์กีฬาที่เริ่มปรับสินค้าให้ดูแฟชั่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมฟิตเนสมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ทั่วโลก (ราว 3 ล้านล้านบาท) ในปี 2562 มีปัญหาเมื่อ COVID-19 ระบาดเมื่อต้นปี 2563 เพราะยิมฟิตเนสต่างๆ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ แต่นั่นเป็นแค่กลุ่มยิมที่ให้บริการแค่ในสาขา เพราะฝั่งธุรกิจฟิตเนสที่อยู่บนโลกออนไลน์กลับเติบโตได้

ออกกำลังกาย
Mirror Home Fitness

ไม่ว่าจะเป็น MIRROR, Peloton, FiiT และ SWEAT ที่มีผู้บริโภคสมัครเข้ามาใช้งานเพิ่ม แสดงให้เห็นว่า ถึงจะมี COVID-19 ผู้บริโภคยังรักสุขภาพ และอยากออกกำลังกายเหมือนเดิม และหากธุรกิจฟิตเนสดั้งเดิมที่ใช้ออกกำลังกายในสาขาไม่ปรับตัวไปออนไลน์ เท่ากับว่าธุรกิจแทบจะมีปัญหาในอนาคต

COVID-19 คือตัวเร่งให้ปรับตัว

เหตุผลที่ธุรกิจฟิตเนสออนไลน์สามารถเติบโตในวิกฤตนี้ได้ เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ทั้งการออกกำลังกายเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ, ไม่มีการสมัครสมาชิกรายเดือน หรือรายปี และยังมีเทรนเนอร์ส่วนตัวที่สามารถสร้างแบบการออกกำลังกาย และวิธีอื่นๆ ในการรักษาสุขภาพของผู้ใช้ได้เช่นกัน

fitness
Fitness ตามห้างสรรพสินค้า // ภาพ pixabay.com

ยิ่งตอนนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ Generation Y, Millennial จนถึง Generation Z เป็นสมาชิกของฟิตเนสถึง 50% เมื่อเทียบกับคนสมาชิกฟิตเนสทั่วโลก ก็ยิ่งไม่แปลกที่เมื่อการออกกำลังกายออนไลน์ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขามากกว่า การจะให้ไปต่อสมาชิกกับฟิตเนสดั้งเดิมก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

จากกรณีดังกล่าวทำให้ฟิตเนสดั้งเดิมในสหรัฐอเมริกาเริ่มประกาศล้มละลาย เช่น 24 Hour Fitness ฟิตเนสอันดับที่ 2 ของสหรัฐฯ ผ่านสาขา 420 แห่ง ได้ประกาศล้มละลาย รวมถึง Gold’s Gym และ Boston Sports Club ได้แจ้งล้มละลายในช่วง COVID-19 เช่นกัน ดังนั้น COVID-19 น่าจะเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมนี้ต้องเปลี่ยนแปลง

fitness

ความรุ่งเรืองของฟิตเนสออนไลน์

ย้อนมาดูฝั่งฟิตเนสออนไลน์กันบ้าง เช่นล่าสุด MIRROR อาจถูกซื้อกิจการจาก Lululemon บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาจากสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจฟิตเนสออนไลน์นั้นกำลังมา และมีโอกาสเติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ Peloton ธุรกิจฟิตเนสออนไลน์ที่ผสานความเป็นออฟไลน์แบบดั้งเดิมเข้ามาด้วย ก็สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แม้ช่วงแรกจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก แต่ด้วยวิกฤต COVID-19 ทำให้มีผู้สมัครใช้งานเพิ่มขึ้นสวนทางกับกลุ่มฟิตเนสดั้งเดิม

Fitness First

และจากกระแสนี้ การปรับตัวของฟิตเนสดั้งเดิมเริ่มมีมากขึ้น เช่นในประเทศไทย เหล่าฟิตเนสสตูดิโอเล็กๆ ได้ทำคลาสสอนออนไลน์ หรือสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาบ้าง ส่วนในต่างประเทศก็ทำในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นคงไม่มีฟิตเนสรายใดแล้วที่ไม่มีแผนไปทำออนไลน์

สรุป

จริงๆ แล้วฟิตเนสออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อ 30 ปีก่อนก็มีการทำวีดีโอสอนฟิตเนสที่บ้านมาแล้ว ดังนั้นฟิตเนสออนไลน์คือการนำแนวคิดการออกกำลังกายที่บ้านมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย และพิสูจน์ได้ว่า ทุกคนยังอยากออกกำลังกายที่บ้าน รวมถึงหากฟิตเนสขนาดใหญ่ไม่เดินหน้าพัฒนาบริการนี้ โอกาสที่จะหายไปจากตลาดก็มีสูง

อ้างอิง // Venturebeat, TechCrunch, Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา