การที่ FinTech โอนเงินข้ามประเทศได้ ฟังดูอาจจะไม่ได้น่าตื่นเต้นเร้าใจอะไร เพราะธนาคารให้บริการนี้ได้มานานแล้ว และในต่างประเทศเองก็กำลังพูดถึงเรื่อง Blockchain กันอย่างหนาหู แต่กระนั้น บริการแบบ True Money Transfer ที่เปิดให้โอนเงินข้ามประเทศจากไทยไปพม่าได้ ก็ยังเป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่ดี
แรงงานพม่าในไทยมากที่สุด โอนเงินกลับบ้านบ่อยที่สุด
ข้อมูลจาก http://www.pewglobal.org/ พบว่าในปี 2015 ที่ผ่านมามีประชากรจากต่างประเทศที่มาอาศัยในไทยประมาณ 3.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนพม่าประมาณ 2 ล้านคน
คนกลุ่มนี้คือ แรงงาน ที่เข้าอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมประมง, อุตสาหกรรมก่อสร้าง, อุตสาหกรรมยาง และแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 50% ที่มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างชัดเจน โดยจากการสำรวจพบว่า แรงงานพม่าทั้งหมดมีการใช้โทรศัพท์มือถือรวมกว่า 3 ล้านเลขหมาย และมีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ประมาณ 60%
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า แรงงานพม่า มีการโอนเงินกลับประเทศตัวเองเฉลี่ย 6 ครั้งต่อปี เป็นมูลค่าประมาณ 6,650 บาทต่อรายการ ตลอดทั้งปีมีการโอนเงินกลับประเทศรวมแล้ว 12 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 77,000 ล้านบาท
แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศพม่า ยังอัตราการเข้าถึงธนาคารที่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่นอกตัวเมือง
โพยก๊วน ทางออกคนพม่า ส่งเงินกลับบ้าน
สำหรับคนพม่าที่อาศัยในเมืองใหญ่ หรือในตัวอำเภอเมือง สามารถรับโอนเงินจากแรงงานพม่าที่มาทำงานในไทยได้ผ่านธนาคาร แต่ก็มีคนพม่าอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่ต้องพูดถึงคนที่อยู่ในต่างจังหวัดห่างไกลออกไป ธนาคารยังเข้าไม่ถึง ทางออกของการส่งเงินกลับบ้านคือ “โพยก๊วน”
โพยก๊วน ก็คือ คน ที่ทำหน้าที่รับเงิน (จากประเทศไทย) และแจ้งกลับไปที่ คนปลายทาง (ที่พม่า) ว่ามีการส่งมอบเงินกันเกิดขึ้น โดยคิดค่าธรรมเนียมต่อครั้ง 30 – 200 บาท แล้วแต่จังหวะ ช่วงเวลา ซึ่งบางครั้งมีคนมาใช้บริการจำนวนมาก “โพย” ก็หาย ปลายทางไม่ได้รับเงิน ไม่มีความแน่นอน ปลอดภัย
โดยโพยก๊วน มีการใช้งานคิดเป็นสัดส่วน 67% ของการโอนเงินทั้งหมด ดังนั้นจึงเกิด True Money Transfer เพื่อให้แรงงานพม่าที่ไทยโอนเงินกลับบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น
จุดกำเนิด True Money Transfer โอนง่าย เร็ว ปลอดภัย เป็นธรรม
สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด บอกว่า จากข้อจำกัดของ โพยก๊วน จึงเกิดบริการ True Money Transfer เพื่อให้บริการแรงงานพม่าในการโอนเงินกลับบ้าน ซึ่ง True Money เป็นผู้ให้บริการรายแรก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ
เริ่มต้นจากการไปแสดงตนเพื่อลงทะเบียน (ตามกฎระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย) ที่เจ้าหน้าที่ของ True Money ซึ่งมีอยู่ 250 แห่งกระจายอยู่ 7 จังหวัดที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก คือ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ระนอง, กาญจนบุรี, ภูเก็ต และตาก ซึ่งต้องใช้หนังสือลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว จากนั้นครั้งต่อไป สามารถมาโอนเงินกับเจ้าหน้าที่ หรือจะโอนด้วยตัวเองผ่านแอป True Money Transfer ก็ได้
สำหรับการโอนเงิน สามารถเติมเงินเข้า True Money Transfer ได้ผ่าน ATM หรือ ผูกกับบัญชีธนาคาร (ในอนาคตจะเติมด้วยวิธีอื่นได้) แล้วโอนไปที่ปลายทางประเทศพม่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของ True Money และธนาคาร AGD Bank พันธมิตร กระจายอยู่ใน 6 เมือง ซึ่งมีแรงงานเข้ามาทำงานในไทย เช่น รัฐมอญ เขตตะนาวศรี รัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน เขตย่างกุ้ง และเขตพะโค รวมทั้งหมด 681 จุด ซึ่งการมารับเงิน ต้องใช้ บัตรประชาชนพม่า, หมายเลขโทรศัพท์ และรหัสลับพาสเวิร์ด เท่านี้ก็จบ
สำหรับค่าธรรมเนียมคิดที่ 50 บาทต่อการโอน 5,000 บาท สูงสุด 30,000 บาทต่อครั้ง ไม่เกิน 200,000 บาทต่อวัน
“จากตัวเลขเฉลี่ยการโอน 6,650 บาท จะเสียค่าโอน 100 บาท โดยมีการแสดงเรทอัตราแลกเปลี่ยนทั้งในแอป และที่เจ้าหน้าที่ทั้ง 250 แห่ง โดยเมื่อมีการโอนเกิดขึ้น ผู้โอนจะรู้ทันทีว่า ผู้รับจะได้รับเงินจำนวนกี่จั๊ด ยึดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่โอนเป็นหลัก”
ตอบโจทย์แรงงานพม่า ก่อนขยายสู่ประเทศอื่น
อรุณ สุดเวหา ผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด บอกว่า True Money เลือกพม่าก่อน เพราะมีแรงงานพม่าเป็นจำนวนมากในไทย และมีมูลค่าการโอนเงินสูงที่สุด โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 60 จะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% ของการโอนทั้งหมด หรือประมาณ 2.4 ล้านครั้ง ซึ่งหากมีการโอนเฉลี่ยที่ 6,000 บาทต่อครั้ง คาดว่าจะมีมูลค่าโอนประมาณ 14,400 ล้านบาท
และแรงงานพม่าที่ต้องการโอนเงินกลับบ้าน สามารถใช้แอป True Money Transfer ได้จากผู้ให้บริการมือถือทุกราย ทั้ง Truemove, dtac และ AIS ไม่มีการเลือกค่าย โดยในอนาคตจะขยายบริการครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ซึ่ง True Money มีความพร้อมให้บริการอยู่แล้ว รอเพียงการอนุญาตจากรัฐบาลแต่ละประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการ True Money Wallet ในไทย มีผู้ใช้กว่า 4 ล้านราย แต่มียอดผู้ใช้ Active ไม่ถึง 50% แต่จากการเปิดให้บริการจ่ายเงินที่ เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งปกติคนไทยมีการเข้าใช้บริการเป็นประจำ มีส่วนช่วยให้การใช้งาน True Money Wallet เพิ่มมากขึ้น และต่อยอดไปใช้บริการอื่นๆ ด้วย โดยคาดว่าในปีหน้า จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้ Activeให้ได้ 50% ของยอดผู้ใช้รวม
คลิปโฆษณา 2 แบบ
สรุป
หลังจากที่นิ่งๆ ไปพักหนึ่ง True Money รุกตลาดเปิดบริการใหม่อย่างหนัก และแต่ละครั้งเป็นช็อตเด็ดจริงๆ ตั้งแต่ การเปิดให้จ่ายเงินซื้อของใน เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเป็นการอาศัยความได้เปรียบที่เป็นพันธมิตรกับ เซเว่นอีเลฟเว่นอยู่แล้วด้วย แต่ทำให้ผู้ใช้เห็นภาพ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ซื้อของในชีวิตจริงได้ ชัดเจนมากขึ้น และครั้งนี้สามารถโอนเงินไปพม่าได้ ซึ่งเชื่อว่าจะโอนไปประเทศอื่นๆ ได้อีกในเร็วๆ นี้ นี่คือ ผู้ให้บริการ e-Wallet ที่เดินเกมได้น่าสนใจที่สุดในเวลานี้ ผู้ให้บริการจากต่างประเทศอย่าง WeChat Pay หรือในไทยรายอื่นๆ ถ้าไม่ขยับตัวให้เร็ว รับรองว่าลำบาก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา