ก.ล.ต. ร่วมกับชมรมฟินเทคฯ เร่งพัฒนาธุรกิจวางแผนการเงิน และ Robo-Advisor

FinTech กำลังบูมสุดๆ ในบ้านเรา หลังจากตั้งชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ เพื่อให้มีตัวกลางในการประสานงานและต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐ และจะได้เป็นศูนย์กลางที่ Startup สาย FinTech ทั้งหลายได้มาพบปะ แลกเปลี่ยน กำหนดทิศทางร่วมกัน

ล่าสุดชมรมฟินเทคฯ ได้เร่งเครื่องผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทค จัดประชุม National FinTech Sandbox Forum ครั้งที่ 1 หรือ NFS Forum 1 หัวข้อเรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างการรับรายได้ของผู้ประกอบการฟินเทคด้านการแนะนำการลงทุน และนักวางแผนการเงิน” โดยมีผู้ประกอบการวางแผนการเงิน ผู้ประกอบการฟินเทค บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมกว่า 100 องค์กรเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการโต๊ะกลมในครั้งนี้

fintech-asso1

สำหรับธุรกิจการวางแผนการเงิน และการแนะนำการลงทุน เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง เนื่องจากอัตราการออมของประเทศอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย จากการศึกษาพบว่าวิธีการสำคัญที่จะทำให้คนไทยสามารถมีเงินเก็บพอเลี้ยงตัวเองยามเกษียณ คือการเพิ่มอัตราการออมเป็นอย่างน้อย 15 – 20% ของรายได้ทุกเดือนนับแต่เริ่มทำงาน หรือเพิ่มอัตราผลตอบแทนการลงทุนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจการวางแผนการเงิน รวมไปถึงบริษัทฟินเทคด้านการแนะนำการลงทุน อย่างเช่น Robo Advisor มีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากดูในกรณีของต่างประเทศจะพบว่าธุรกิจการวางแผนการเงิน และการแนะนำการลงทุนส่วนใหญ่จะดำเนินงานโดยที่ปรึกษาการเงินอิสระ (Independent Financial Advisor) โดยในบ้านเรา อาชีพน้กวางแผนการเงินได้เริ่มมีการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา

fintech-sandbox-1

Regulatory Sandbox ทางออกผู้ประกอบการ FinTech

ปัญหาที่พบในประเทศไทย คือโครงสร้างการประกอบธุรกิจและการรับรายได้ยังคงไม่รองรับต่อการขยายตัวต่อแนวโน้มการเติบโตครั้งนี้ โดยในปัจจุบัน นักวางแผนการเงินหลายกลุ่ม รวมถึงผู้ประกอบการฟินเทคด้านการแนะนำการลงทุนหลายราย ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อทำธุรกิจ แต่ธรรมเนียมปฏิบัติในการรับรายได้จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจเป็นนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (LBDU: Limited broker, dealer and underwriter) ในปัจจุุบันจะเป็นการจ่ายเงินตรงให้กับนักวางแผนการเงินแต่ละรายที่มีใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน (IP, IC) ส่งผลให้ผู้ประกอบการฯ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเช่นในต่างประเทศ

ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมกับชมรมฟินเทคฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยมีแนวคิดในการใช้ Regulatory Sandbox หรือ การสร้างสนามทดลองให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการทดสอบและพัฒนาบริการด้านการวางแผนการเงิน และแนะนำการลงทุน โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ Regulatory Sandbox ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยทาง ก.ล.ต. พร้อมให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ และพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม

startup-fintech1

จัดตั้ง National FinTech Sandbox ประสานภาครัฐ ช่วยรายใหม่

สำหรับนิติบุคคลที่ทำธุรกิจวางแผนการเงิน ผู้ประกอบการฟินเทค และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว ทาง ก.ล.ต. มีแนวคิดในการให้ใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุน (IA) แก่ผู้ประกอบการฯ เพื่อสามารถทำธุรกิจต่อไปได้เลย และสามารถรับรายได้จาก LBDU ได้ทันทีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นทาง ก.ล.ต. จะปรับเกณฑ์การขอใบอนุญาตให้เหมาะสม และให้ผู้ประกอบการฯ ดำเนินการขอใบอนุญาต IA ต่อไป โดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจการวางแผนการเงินของประเทศไทยเติบโตได้อีกมาก

เจษฎา สุขทิศ เลขาธิการชมรมฟินเทคฯ บอกว่า ชมรมจะจัดให้มี National FinTech Sandbox (NFS) หรือศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติเพื่อทำงานร่วมกับ Regulatory Sandbox ของทาง ก.ล.ต. โดยจัดให้มีเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้ได้มีพื้นที่ (Co-working space) ในการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีการประสานงานร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการหาโอกาสขยายฐานลูกค้า และที่สำคัญคือมีการเกณฑ์ลูกค้าจำนวนหนึ่งที่อาสาสมัครเข้าร่วมทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้สภาพแวดล้อมที่กำหนดเพื่อให้ผู้ประกอบการฟินเทคเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับลูกค้าจริง ในสภาพแวดล้อมจริง

cac_8767

ชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมี กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานชมรม โดยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างขออนุญาตจัดตั้งเป็น “สมาคมฟินเทคประเทศไทย” โดยชมรมได้กำหนดพันธกิจหลักคือ การลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงินของประเทศไทย การช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินกว้างขวางมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมการแข่งขันอย่างโปร่งใสและยุติธรรมต่อผูู้บริโภค และการสนับสนุนให้ฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

ชมรมฯ จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง National FinTech Sandbox – NFS (ศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ) เพื่อเป็นตัวเร่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech และเป็นศูนย์บ่มเพาะหลักสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงการเป็นหน่วยงานหลักในการสร้าง FinTech Ecosystem ในประเทศไทย อันประกอบด้วย ผู้ประกอบการ FinTech, สถาบันการเงิน, หน่วยงานกำกับดูแล, ศูนย์บ่มเพาะ, VC, และคู่ค้าทางธุรกิจอื่น ๆ และการจัดทำ National FinTech Roadmap (แผนพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคแห่งชาติ) ร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแผนงานหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา