โอกาสโตของ Fintech สาย Retail Investment กับการลงทุนของคนไทย

investment-fintech

สตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตรวดเร็วที่สุดในยุคนี้คงต้องยกให้กับ Fintech อย่างไม่ต้องสงสัย และยังเป็นสตาร์ทอัพที่มีการแตกแขนงลงไปเป็นสายต่างๆมากที่สุดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สายชำระเงิน (Payment) สายกู้เงินแบบ P2P สาย Crowd Funding ฯลฯ แต่สายที่มีจำนวนผู้เล่นในตลาดประเทศไทยเยอะที่สุดในตอนนี้น่าจะเป็นสายการลงทุนสำหรับรายย่อย (Retail Investment) อย่าง StockRadars, Jitta, Finnomena ฯลฯ (รวมถึงน้องใหม่อย่าง StockQuadrant และ Bidschart ด้วย)

ล่าสุดไม่นานมานี้ ชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่องของรูปแบบการทำธุรกิจของฟินเทคสาย Retail Investment ขึ้น และได้รับการต่อยอดให้ผู้ประกอบการได้เข้าพบ Regulator ที่กำกับดูแลโดยตรงอย่างสำนักงาน ก.ล.ต เพื่อที่จะจำแนกประเภทของผู้ประกอบการกลุ่มนี้และหาแนวทางสนับสนุนต่อไป

ผลของการหารือกับ ก.ล.ต ได้ข้อสรุปคร่าวๆว่าน่าจะเริ่มต้นสนามทดลอง (Sandbox) ของฟินเทคสายนี้ได้ในช่วงต้นปีหน้าและอีกไม่นานนี้ก็น่าจะเข้าสู่กระบวนการ Hearing รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะเป็นไปได้ทั้งออกใบอนุญาตชั่วคราวใ้ห้ผู้ประกอบการและให้เข้า Sandbox ก่อน (รายละเอียดต่างๆคงจะออกมาเร็วๆนี้)

fintech-sandbox-1

มุมมองส่วนตัวของผมที่คลุกคลีอยู่กับวงการตลาดหุ้นและนักลงทุนมาพอสมควร มองว่าฟินเทคสาย Retail Investment มีโอกาสเติบโตสูงไม่แพ้สายอื่นๆ แม้ว่าการลงทุนกับคนไทยดูจะเป็นเรื่องไกลตัวค่อนข้างมาก (คนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมฝากเงินไว้ในธนาคาร) แต่การที่ฟินเทคสายนี้ (กำลัง) จะได้รับการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ข้อบังคับหลายข้อที่เคยเป็นข้อจำกัด น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนไทยจะเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น จากปัจจุบันผลิตภัณฑ์การเงินและวิธีการลงทุนของสถาบันการเงินรูปแบบเดิมค่อนข้างมีข้อจำกัด (ส่วนตัวผมค่อนข้างตื่นเต้นทีเดียวหากกฎเกณฑ์ใหม่เป็นไปตามที่ ก.ล.ต กล่าวจริง)

จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าปัจจุบันเรามีเงินฝากในธนาคารส่วนเกิน (หักส่วนที่ต้องตั้งสำรองตามกฎออกไปแล้ว) จำนวนถึง 14 ล้านล้านบาท ซึ่งแช่อยู่ในธนาคารกินดอกเบี้ยอย่างเก่งก็ไม่เกิน 3% ซึ่งเท่ากับอัตราเงินเฟ้อพอดี สรุปคือไม่ทำให้รวยขึ้น…

อีกทั้ง พ.ร.บ. ประกันเงินฝากที่จะกำหนดให้สถาบันการเงินประกันเงินฝากธนาคารแค่รายละ 1 ล้านบาทต่อหนึ่งบัญชีธนาคาร เท่าที่นับดูประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐที่มีสถานะการเงินมั่นคงประมาณ 15 แห่งเท่านั้น แล้วคนที่มีเงินมากกว่า 15 ล้านบาทจะทำอย่างไร? เงินจำนวนนี้สมควรที่จะไหลเข้าสู่ตลาดทุน (Capital Market) มากขึ้น นอกจากประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเงินเฟ้อแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น แทนที่เงินของคนไทยส่วนใหญ่จะไปอยู่ในธนาคารเพื่อรอปล่อยกู้ แต่การที่เงินไปอยู่ในตลาดหุ้นจะช่วยเร่งการขยายตัวของภาคเอกชนได้มากกว่า

fintech-asso1

สิ่งที่ผมอยากให้ภาครัฐสนับสนุนมากที่สุดคือการตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อลงทุนในธุรกิจขนาดกลางที่มีศักยภาพ เพราะเป็นแหล่งทุนที่ใช้ในการขยายธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำกว่ากู้เงินและยังสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนเป็นอย่างดีด้วย จะเป็นการดีมากหากเราสามารถสร้างวัฒนธรรมของการร่วมลงทุนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ปัจจุบัน คนไทยยังเข้าถึงการลงทุนได้น้อยมาก อย่างบัญชีคนเล่นหุ้นยังมีเพียง 1 ล้านบัญชีเทียบกับประชากรตั้ง 60 ล้านคน (เอาเข้าจริงกลุ่มที่เทรดจริงจังมีแค่หลักสองแสนคน) คนทำงานมีรายได้ยังรู้จักตลาดหุ้นเพียงแค่กองทุนช่วยประหยัดภาษี ได้แต่หวังว่าการเกิดของฟินเทคสาย Retail Investment ที่นำนวัตรกรรมการลงทุนใหม่ๆเข้ามาจะทำให้ตลาดทุนคึกคักและได้รับความน่าสนใจมากขึ้น

แต่ออกตัวก่อนว่า ใช่ว่าทุกคนจะเข้าสู่ฟินเทคสาย Retail Investment ได้ เพราะธุรกิจนี้ต้องมีความชำนาญและความเข้าใจในอุตสาหกรรมการเงินการลงทุนในระดับสูง โดยเฉพาะความต้องการของนักลงทุนรายย่อย ใครที่ตีโจทย์แตก คนนั้นชนะ!! คราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่าจะสร้างโปรดักต์การลงทุนให้โดนใจลูกค้าต้องทำอย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อดีตนักข่าวสายการเงินและตลาดหุ้นประจำสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สนใจเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในโลกการเงินเป็นพิเศษ ปัจจุบันเป็น Head Creative ที่ Super Trader และ COO ที่ Stock Quadrant ฟินเทคด้านการวิเคราะห์หุ้น มีอะไรคุยกันได้ที่เพจ Monkey Money และ @Nares_SPT