ทุกวันนี้การใช้งาน e-wallet ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่จริงๆ แล้วปัญหาของเรื่องนี้อาจเป็นผู้ให้บริการ e-wallet ที่เยอะเกินไปหรือไม่ เพราะปัจจุบัน สิงคโปร์มีผู้ให้บริการ e-wallet ถึง 27 ราย ส่วนมาเลเซียมีมากถึง 40 ราย
Zack Yang ผู้ร่วมก่อตั้ง Fomo Pay ในสิงคโปร์ระบุว่า ในขณะนี้ตลาดพร้อมรับผู้เล่นหน้าใหม่เสมอ แต่เขาก็เชื่อว่า e-wallet นั้นเองกลับสร้างปัญหาให้ผู้ซื้อสินค้าที่ไม่ทราบวิธีการใช้งาน
ปัญหาคือ มันเยอะไป
Yang กล่าวในงาน China Conference 2018 ของสำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่า “เงินสดคือศัตรูร่วม” ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้ ผู้ใช้จะต้องสามารถไปใช้บริการที่ร้านค้าไหนก็ได้ และไม่ต้องกังวลว่าจะใช้ wallet เจ้าไหน
ปัจจุบัน Fomo Pay เปิดให้ผู้จำหน่ายสินค้ารับเงินจาก e-wallet หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น GrabPay, WeChat Pay, Alipay ลูกค้าเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น
ฝั่งร้านค้า Chia Chou Cheong ซีอีโอของ 11street บริษัทอีคอมเมิร์ซของมาเลเซียระบุว่า การจ่ายเงินด้วยมือถือจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วถ้ามีคนใช้มันมากขึ้น นั่นคือจะต้องทำให้บริการสู่ยุคดิจิทัลให้มากขึ้นด้วย
Chia กล่าวว่า “นี่คือหนทางใหม่ในการซื้อขายสินค้าอย่างแน่นอน” โดยปัจจุบัน 11street รองรับระบบจ่ายเงินทุกรูปแบบ และเปิดกว้างในการร่วมกับผู้ให้บริการ e-wallet รายต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการให้บริการกลุ่มคน unbank (กลุ่มคนที่ไม่เข้าถึงบริการธนาคาร) ได้มากขึ้น
Chia เห็นว่าการขาดซึ่งความตระหนักนั้นเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับ e-wallet โดยระบุว่า “เราไม่สามารถบังคับให้ผู้คนใช้มันได้” ซึ่ง Chia คิดว่าการกระตุ้นลูกค้าด้วยส่วนลดและคูปองจะช่วยให้เห็นประโยชน์ของบริการเหล่านี้
มองจีนและเกาหลีใต้
หากมองไปที่จีนและเกาหลีใต้แล้ว e-wallet เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ถ้ามองมายังฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริการเหล่านี้กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินเข้าเล่นในตลาดนี้ค่อนข้างช้า อาจเนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่ธนาคารถูกควบคุมดูแลมากกว่า
Yang ระบุว่า “ธนาคารอยากทำเหมือนกัน แต่นวัตกรรมต้องใช้เวลา ดังนั้นตอนนี้ความท้าทายคือหาพาร์ทเนอร์ที่จะไปด้วยกันได้”
Mark Tan หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการขายของ TNG Digital ผู้ให้บริการ mobile wallet ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ Touch n’ Go จากมาเลเซีย และ Ant Financial ของ Alibaba ระบุว่า ตอนที่ใช้เงินสดในจีน “ผมรู้สึกเหมือนเอเลี่ยน” เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครถือเงินสดไป ๆ มา ๆ และจ่ายด้วย e-wallet กันมานานแล้ว
TNG Digital จะศึกษาโมเดลของจีนเพื่อนำมาปรับใช้กับมาเลเซีย ปัจจุบันระบบ e-wallet ของ TNG Digital ใช้กับระบบขนส่งมวลชน และตอนนี้ทางบริษัทกำลังหา use case เพิ่มเติม อย่างเช่นจ่ายเงินค่าจอดรถ
Tan ระบุว่า “เรามีผู้ให้บริการ e-wallet ที่มีใบอนุญาตกว่า 40 รายในมาเลเซียตอนนี้ และต่างคนต่างก็ผลาญเงินเพื่อดึงคนมาใช้บริการให้ได้” ซึ่ง Tan ยังคงเชื่อมั่นใจศักยภาพของการจ่ายเงินดิจิทัล โดยเฉพาะลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และกลุ่ม B40 ของมาเลเซีย (คือกลุ่มที่มีรายได้ต่อครัวเรือน 940 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือต่ำกว่า) เพราะพวกเขาจะนำเงินเข้า e-wallet ได้ง่าย เพียงไปร้านสะดวกซื้อหรือสถานีบริการน้ำมัน จากนั้นก็ใช้ e-wallet กับบริการออนไลน์ได้เลย โมเดลนี้เรียกว่า prepay-and-use ซึ่งตอนนี้ทาง TNG Digital กำลังจะขยายส่วนนี้ด้วย
Chia บอกว่า ในฝั่งของ 11street นั้น “เรายินดีต้อนรับ e-wallet ทุกเจ้าเพราะว่าทุกคนมากับเงินเพื่อกระตุ้นและทำการตลาดเพื่อโปรโมตให้ลูกค้า แต่เราก็ค่อนข้างเลือกอย่างระมัดระวัง สิ่งสำคัญที่สุดคือประสบการณ์ผู้ใช้ขณะใช้งาน” และ Chia ให้ความเห็นว่า มีเพียงผู้ให้บริการที่คนใช้ติดเท่านั้นที่จะอยู่รอด และการจะควบกิจการและรวมบริการเข้าด้วยกันนั้นท้ายที่สุดก็จะต้องเกิดขึ้นกับธุรกิจระบบจ่ายเงินอย่างเลี่ยงไม่ได้
ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์
Stephan Neumeier ผู้จัดการทั่วไปของ Kaspersky Lab เอเชียแปซิฟิกระบุว่า “ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ตลาดนี้เป็นแบบ self-regulate และผู้บริโภคก็จะตัดสินใจว่าจะใช้อะไร ใครที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดก็จะต้องตายจากไป”
Neumeier ระบุว่าเขากังวลเรื่องความปลอดภัยเมื่อทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเขาระบุว่าทุกวันนี้น่ากลัวมาก ผู้ใช้ยังคงทำเหมือนกับวิธีเดิม ๆ ผู้ใช้ควรจะเรียนรู้เพื่อระวังตัว ต้องระมัดระวังให้มากขึ้นและตระหนักในสิ่งที่ทำบนโลกออนไลน์เมื่อมีใครเข้าถึงข้อมูลและเงิน
“มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราสร้างความตระหนัก ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยต้องใส่เข้าไปในเทคโนโลยีเหล่านี้” Neumeier กล่าว
สรุป
ความสะดวกในการใช้งาน ถือเป็นปัจจัยหลักในการเลือกใช้งาน e-wallet และสุดท้ายแล้วก็อาจมีผู้เหลืออยู่รอดเพียงไม่กี่ราย ทำให้ตอนนี้ทุกค่ายต่างทุ่มทำการตลาดอย่างหนักเพื่อทำให้บริการของตนเองติดตลาดให้ได้
มองย้อนกลับมาที่ไทย ตอนนี้ผู้ให้บริการ e-walllet อาจไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนกับฝั่งสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่สภาพตลาดก็ยังคงเหมือน ๆ กันคือยังแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง ซึ่งจุดต่างของไทยอย่างหนึ่งก็คือจะมีฝั่งธนาคารเข้ามาร่วมมากกว่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา