FinTech เกิดขึ้นมาก แต่ยังไม่สามารถใช้ระบบของ Fed ได้เนื่องจากกังวลความเสี่ยงต่อระบบธนาคาร

ช่วงนี้บริษัทหน้าใหม่ต่างกำลังก้าวเข้ามาในวงการเงิน โดยหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ​ ก็พยายามสนับสนุนด้วยการให้ใบอนุญาตธนาคารกับบริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการทางการเงิน เพื่อเป็นการให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตและเกิดการจ้างงานมากขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

ตอนนี้ทั้ง Office of the Comptroller of the Currency หรือ OCC และ Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC กำลังหาช่องทางออกใบอนุญาตคล้ายธนาคารให้บริษัทฟินเทค เพื่อเปิดช่องทางในการขยายผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต

แต่แม้ว่าบริษัทฟินเทคจะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเงิน บริษัทเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบจ่ายเงิน, ระบบการชำระหนี้ หรือเครื่องมือของอื่น ๆ ของเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เลย เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดกังวลว่าบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ว่าจะไม่มีเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงที่ดีพอ หรือการปกป้องลูกค้าในลักษณะเดียวกับธนาคาร

เกร็ด: เฟดหรือ Federal Reserve นั้นมีหน้าที่เป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ​ แต่เจ้าหน้าที่ของเฟดนั้นจะเป็นคนที่ส่งเข้ามาจากสถาบันการเงินในหลาย ๆ แห่งจากหลาย ๆ รัฐที่เป็นสมาชิกของเฟด ดังนั้นเฟดจึงไม่ได้ขึ้นกับภาครัฐของสหรัฐฯ​

ปัจจุบัน บริษัทอย่าง PayPal หรือ LendingClub นั้นมีลูกค้านับล้านคนที่ใช้บริการ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ดึงดูดลูกค้าด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าธนาคาร โดย OCC และ FDIC ระบุว่าบริษัทเหล่านี้สามารถขยายการให้บริการทางการเงินได้มาก เนื่องจากการใช้โมเดลราคาถูกทำให้บริการทางการเงินเข้าถึงคนระดับที่ไม่ใหญ่พอจะใช้บริการกับธนาคารขนาดใหญ่

แต่ทั้งนี้ บริษัทฟินเทคบางแห่งระบุว่าพวกเขาจะต้องทุ่มทรัพยากรเพื่อการขอและรักษาใบอนุญาต OCC เพื่อให้ประกอบธุรกิจทางการเงินได้ แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะลดลงได้มากถ้าเฟดให้พวกเขาใช้ระบบชำระเงิน ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องพึ่งธนาคารเป็นตัวกลางในเส้นทางการเงิน ซึ่งค่าใช้จ่ายของการใช้ธนาคารเป็นตัวกลางนี้ถือเป็นหนึ่งในห้าค่าดำเนินการที่สูงมากของบริษัทฟินเทคหลายแห่ง ถ้าลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้จะทำให้บริษัทฟินเทคมีอำนาจในการแข่งขันมากขึ้น

แต่ฝั่งธนาคารเองก็ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าบริษัทฟินเทคควรจะเข้าถึงระบบเฟดได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาสามารถปฏิบัติตามกฎเดียวกับที่ธนาคารปฏิบัติได้ โดย Paul Merski รองประธานบริหารของ Independent Community Bankers of America ระบุว่า “คุณคงไม่อยากให้ใบอนุญาตใหม่ที่หลีกเลี่ยงกฎและข้อกำหนดที่มีอยู่ และเรียกมันว่านวัตกรรม

ปัจจุบัน ผู้มีอำนาจทางกฎหมายของรัฐต่างก็คอยสำรวจบริษัทฟินเทคอยู่เรื่อย ๆ โดยโฟกัสไปที่การปกป้องลูกค้า อย่างเช่นอัตราดอกเบี้ย, ความเป็นส่วนตัว และการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งบางรัฐกำหนดให้บริษัทเหล่านี้ต้องทำตามกฎหมายป้องกันการฟ้องเงิน, ส่งแผนธุรกิจ หรือเปิดให้มีการตรวจสอบแบบ on-site ด้วย

ภาพ PublicDomainPictures/Pixabay (CC0 Creative Commons)

จากข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ​ ระบุว่า นับตั้งแต่ 2010-2017 มีบริษัทฟินเทคเกิดขึ้นแล้วกว่า 3,300 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่เฟดกังวลว่าผู้เล่นหน้าใหม่เหล่านี้จะชอบการเติบโตมากกว่าการจัดการความเสี่ยงหรือความรู้ด้านการควบคุม

เจ้าหน้าที่เฟดบางคนก็กังวลว่า การปล่อยให้บริษัทฟินเทคเข้าถึงระบบชำระเงินของเฟดได้ง่าย ๆ หมายความว่าถ้าบริษัทฟินเทคล้มละลาย, มีเหตุการณ์ข้อมูลรั่ว ก็จะเกิดเป็นความเสี่ยงไปทั้งระบบ และผลสุดท้ายผู้บริโภคก็จะต้องรับกรรม

ส่วนฝั่งฟินเทคก็โต้ว่า การเติบโตนี้สะท้อนว่าพวกเขาต้องการเข้าถึงบริการของธนาคาร และหมายความว่าพวกเขาพร้อมแล้วในการทำตามกฎหรือเงื่อนไขของภาครัฐหรือเจ้าของระบบ

สรุป

การเติบโตของฟินเทคจะยิ่งทำให้เกิดความต้องการในการใช้ระบบของธนาคารมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบริษัทฟินเทคก็จะต้องทำให้เฟดมั่นใจให้ได้ด้วยเช่นกันว่า บริษัทจะไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบให้ระบบธนาคารแบบดั้งเดิม ส่วนเฟดเองก็อาจต้องพิจารณาในการเปิดให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาใช้งานระบบของเฟด โดยที่ยังคงรักษาความเชื่อมั่นของระบบธนาคารแบบเดิมไว้ให้ได้

ที่มา – Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ