Final Pitching Day ดีป้าพา startup ลุยเมืองนอก ศึกษางานระดับโลก

งานสนับสนุน startup ไม่ใช่แค่การให้เงินทุน หรือจัดแข่งขันแล้วมอบรางวัล แต่เป็นเรื่องของการสร้าง ecosystem ในระยะยาว เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นจริง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่แทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันมี เทคโนโลยี เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ startup คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มาเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น

ดังนั้นหลายประเทศทั่วโลก จึงพยายามสร้าง ecosystem และสร้าง startup ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้เฟ้นหาสุดยอด startup 10 ราย หลังจากคัดเลือกและบ่มเพาะ startup จากทั่วประเทศมาแล้ว

10 รายชื่อ startup ท่องโลกศึกษาตลาด

สำหรับรายชื่อทั้ง 10 ทีม ที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งการเลือกไปประเทศไทยจะขึ้นกับรูปแบบธุรกิจของ startup นั้นๆ เพราะนี่คือการไปต่อยอดทางธุรกิจ โดยทั้ง 10 ทีมที่ได้ไป ประกอบด้วย

1.Seekster ระบบกลางในการค้นหาผู้ให้บริการพื้นฐาน เช่น แม่บ้าน, ช่างต่างๆ อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของบ้านหรือคอนโด ในการค้นหาและจองคิวช่างที่เชื่อถือได้

2.ChomCHOB แพลตฟอร์มสื่อกลางในการรวมแต้มบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรสะสมคะแนนต่างๆ ให้เป็น ChomCHOB Point ด้วยคอนเซปต์ เปลี่ยนแต้มสะสมเพื่อการช็อปปิ้ง

3.Rinn แก้วน้ำอัจฉริยะ สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพสามารถทราบว่าน้ำที่ดื่มเข้าไปมีสารอาหารประเภทใดบ้าง ผู้ใช้งานสามารถทราบและวางแผนโภชนาการของตัวเองได้ เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพในระยะยาว

4.Refinn เว็บไซต์รีไฟแนนซ์ภาระหนี้ออนไลน์ เพื่อให้คนไทยได้มีเงินเหลือจากการลดดอกเบี้ย และหมดภาระหนี้ได้เร็วที่สุด

5.Fictionlog แพลตฟอร์มเขียน-อ่านนวนิยายออนไลน์ โดยนักอ่านสามารถเข้ามาซื้อเพื่อสนับสนุนนักเขียนได้โดยตรง อัพเดทบทต่อบท ทำให้นักเขียนได้ส่วนแบ่งที่มากขึ้น เพิ่มทางเลือกให้นักอ่านสามารถเข้าถึงนวนิยายคุณภาพได้มากกว่าเดิม

6.Cyberrex Design หนังสือ “นาก” Horror Augmented Reality & Virtual Reality Book เป็นหนังสือแนวสยองขวัญที่นำเอาเทคนิค AR และ VR มาใช้เพื่อให้เกิดภาพสามมิติเสมือนจริงออกมาจากหนังสือ และแทรกความเป็น Interactive เข้าไปด้วย

7.Drivemate หรือเรียกได้ว่า Airbnb for cars ที่เป็นแพลตฟอร์มเช่ารถออนไลน์รูปแบบใหม่ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ปล่อยเช่ารถกับผู้ที่ต้องการเช่ารถให้มาพบกัน อีกทั้งยังมีบริการเสริมจัดหาประกันภัยคุ้มครองรถเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ยืนยันความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง

8.CashGrow คลาวด์แอปพลิเคชั่นที่ช่วยบริหารจัดการกระแสเงินสด และสภาพคล่องทางการเงิน โดยนำข้อมูลรายรับรายจ่ายขององค์กรมาประมวลผลให้เข้าใจได้ง่าย และนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างคำแนะนำแก่บริษัทในการนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์

9.Fixzy Auto รวมเอาบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ทั้งหมดมาไว้บนแพลตฟอร์มเดียวเพื่อผู้ใช้รถยนต์มือใหม่ เนื่องจากหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของผู้ใช้รถยนต์ คือพวกเขาไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับรถยนต์และบริการที่มีอยู่

10.FindYourSpace Pro แพลตฟอร์มจัดเก็บและจัดการรายการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขายอย่างครบวงจร ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการและค้นหารายการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ได้จากคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

ส่วนใครได้ไปไหนบ้าง ดูตามภาพด้านล่างนี้ได้เลย

ย้อนรอยความสำเร็จ DIGITAL STARTUP

ก่อนจะได้ทั้ง 10 ทีมข้างต้นมา ต้องผ่านการคัดเลือกจาก startup กว่า 500 ทีมทั่วประเทศ มนต์ชัย  ศรีเจริญศักดิ์ รักษาการในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด 2 ของ ดีป้า บอกว่า ด้วยงบประมาณที่ดีป้าได้รับ นี่คือการสนับสนุน startup ทั่วประเทศ โดยมีการแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Angel in the City เป็น startup ที่เน้นด้าน ไอที โซลูชั่น การทำนวัตกรรม IoT และ AI ต่างๆ

อีกประเภทคือ Thailand Digi Challenge เน้นด้าน Digital Content เช่น Game, Animation และ Content ต่างๆ ซึ่งการแยกเป็น 2 ประเภท เพื่อให้ startup รู้ทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจน เรียนรู้ทั้งทางเทคนิคและการตลาด รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องในอนาคต

จาก 500 ทีม คัดเลือกทีมที่มีศักยภาพเหลือ 300 ทีม ได้รับเงินสนับสนุนก้อนแรก 50,000 บาท จากนั้นมีการทดสอบตลาดเพื่อคัดเลือก 100 ทีม ได้รับเงินสนับสนุน 80,000 บาท

หลังจากนั้นจะคัดทีมที่โดดเด่นจริงๆ 40 ทีม ได้รับเงินสนับสนุนอีก 200,000 บาท ก่อนจะเข้าสู่ Final Pitching Day ค้นหา 10 ทีมสุดท้าย แต่ทุกทีมที่เข้าร่วม จะได้รับประสบการณ์ คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อกลับไปพัฒนาปรับปรุง เพื่อยกระดับตัวเองและกลับมาอีกครั้งในโครงการครั้งต่อไป ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น

Startup Club ชมรมพัฒนาคนพันธุ์ดิจิทัล

อุปสรรคประการหนึ่งในการพัฒนา startup ทั้งไทยและทั่วโลกคือ ขาดแคลนบุคลากร การตั้ง Startup Club จะเป็นชมรมในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการสร้างคนที่เข้าใจระบบ startup อย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น จนเกิดเป็นเครือข่ายที่เข้าใจการทำงานจริงในโลกธุรกิจ

มนต์ชัย บอกว่า 2 ส่วนแรกคือ DIGITAL STARTUP และ Startup Club เป็นส่วนที่ทำให้ ecosystem ของ startup สมบูรณ์มากขึ้น และยังมีส่วนที่ 3 คือการทำ Accelerate Program แต่เน้นเรื่องความรู้เป็นหลัก เพื่อไม่ทับซ้อนกับการทำงานของภาคเอกชนที่ทำได้ดีมากอยู่แล้ว

“เอกชนมี Accelerate Program ด้านเงินทุนที่ดี ทั้งในสายการเงิน, สายโทรคมนาคม และ สายอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับ ดีป้า จะเน้นเรื่องความรู้เป็นหลัก เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้น”

อนาคต DIGITAL STARTUP ช่วยทุกคนให้ได้ไปต่อ

มนต์ชัย  บอกว่า ส่วนตัวโครงการในปีแรกทำได้ดี แต่ก็อยากให้ออกมาดีกว่านี้ ต้องสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน แปลว่าทีม startup ที่เข่าร่วม อย่างน้อยในระดับ 100 ทีม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีแนวคิดและวิธีการที่ดี เหลือเรื่องแผนธุรกิจและการเข้าถึงตลาดที่ต้องพัฒนา อยากให้ทุกคนได้ไปต่อ

ดังนั้นโครงการครั้งต่อไป จะต้องสานต่อและยกระดับให้ดีขึ้น เช่น การสร้างฐานข้อมูล startup ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 500 เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาของ startup ไทย

รวมถึงต้องมีการสร้างเครือข่าย startup และศูนย์บ่มเพาะ หรือ Incubation ที่เชื่อมโยงกันทั่วประเทศ ลงไปถึงระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ซึ่งอนาคตสามารถต่อยอดเป็น Smart City ซึ่งดีป้าจะค่อยเจาะลึกในรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้โครงการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา