สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติขอภาครัฐสนับสนุน วงการภาพยนตร์ขาดเงินทุนหนัก

สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติขอภาครัฐช่วย เอกชนช่วยตัวเองมานานแล้ว คิดสร้างสรรค์แต่ไม่มีทุนก็ทำหนังไม่ได้ จน ‘คนทำหนัง’ จะตายกันหมด

ศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ รองประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้พูดถึงปัญหาของธุรกิจสร้างสรรค์โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ว่าธุรกิจเหล่านี้ยังชะงักเพราะภาคเอกชนต้องดิ้นรนกันเองโดยไร้การสนับสนุนจากภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

รองประธานสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า การผลักดัน Soft Power ต้องผ่านสื่อที่คนเข้าถึงง่ายอย่างภาพยนตร์ เพลง โทรทัศน์ พร้อมยกตัวอย่างการผลักดันของเกาหลีใต้ แต่ครีเอเตอร์ในธุรกิจสร้างสรรค์ไทยยังมีปัญหา

ปัญหาหลักที่พูดถึง คือ แหล่งเงินทุนที่จะนำมาสร้างภาพยนตร์ แหล่งทุนดั้งเดิมอย่างธนาคารไม่สามารถช่วยธุรกิจสร้างสรรค์อย่างได้เพราะหน้าที่ของแหล่งเงินทุนอย่างธนาคารคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสี่ยง แต่การให้ทุนของอุตสาหกรรมคอนเทนต์มีความแตกต่างจากการกู้เงินเพื่อทำธุรกิจทั่วไป  

“ผลตอบแทนจากอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไม่ใช่ผลตอบแทนที่เป็นเงินหรือดอกเบี้ย แต่เป็นผลตอบแทนของมูลค่าที่ทำให้ประเทศมีจุดยืนที่แข่งขันได้ในนานาชาติ อันนี้ต้องไม่ถือว่าเป็นเงินลงทุนที่มีความเสี่ยงทางด้านหนี้”

รองประธานสมาพันธ์ฯ เสนอแนวทางว่ารัฐบาลในอนาคตอาจจะสนับสนุนด้วยการทำ Matching Funds หรือทำตามในบางประเทศที่การทำภาพยนตร์กำหนดว่าต้องใช้คอนเทนต์ภายในประเทศ 50% ทำให้เกิดการลงทุนในกองทุน

“ในฝรั่งเศสมีกองทุน อย่างบริษัทขนาดใหญ่มาก สำเร็จมาก จะต้องแบ่งเงินกำไร 10% ไปลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ [รัฐบาลไทยอาจจะกำหนดนโยบาย] อย่างเช่น ปตท. ซีพี หรือบริษัทขนาดใหญ่สามารถเลือกได้ว่าจะเอาเงินที่ต้องเสียภาษีไปลงทุนในหน่วยลงทุนที่เป็นกองทุนแห่งชาติทางด้านคอนเทนต์ได้ อย่าง [ธุรกิจขนาดใหญ่] ได้กำไรหมื่นล้าน เอากำไรแค่ 1% คือ 1,000 ล้าน มาลงทุนทำหนังที่ปกติใช้เงินทำหนัง 20 ล้านบาทต่อปี คุณสามารถทำหนังได้มโหฬาร”

“ผมว่าคอนเทนต์ของไทยจะใหญ่มาก ดีมาก แล้วเมื่อเราวัดว่าคุณภาพของครีเอทีฟคนไทยสู้กับเขาได้ไหม ตอนนี้ไม่ต้องถาม เราดีมาก อย่าง Netflix ที่เปิดโอกาสให้พวกเราทำแล้วทุนดีกว่างบที่สร้างภาพยนตร์ การสร้างภาพยนตร์ที่ครบกระบวนการทั้ง Pre-Production, Production, Post-Production สร้างงาน สร้างรายได้ได้มาก หากเราสามารถมีกองทุนที่ดีที่มีคนเข้าใจในการจัดมูลค่าของกองทุน” 

“จริง ๆ แล้วในนามสมาพันธ์เราไม่ขออะไรมาก ถนนเส้นหนึ่งที่ตัดกี่พันกี่หมื่นล้าน เราขอเศษเงินเท่านั้นเอง แต่เราสามารถสร้างความภูมิใจของคนไทยทั้งแผ่นดินได้ด้วยคอนเทนต์ ผมอยากจะเสนอรัฐบาลยุคต่อไปว่า ใครก็ตามที่ขึ้นมานั่ง ต้องช่วยเราเพราะเราช่วยพวกคุณ เรายืนได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยคอนเทนต์”

รองประธานสมาพันธ์ฯ ยังกล่าวเสริมเรื่องเงินทุนในภายหลังอีกว่า “ภาคเอกชนเรามีเงินทุนอยู่ แต่เราไม่ควรให้ภาคเอกชนวิ่งช่วยเหลือตัวเองมากเพราะตอนนี้เริ่มเป็น National Agenda เราเริ่มรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสู้และแข่งกับทั่วโลกได้ นโยบายเรื่องแหล่งทุนตรงนี้ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย”

นอกจากเงินทุนแล้ว ยังได้พูดถึงอีก 2 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนในเกิดการสร้างสรรค์ Soft Power ในภาพยนตร์ 

เรื่องแรก คือ กระบวนการการผลิตภาพยนตร์ที่ยังเป็นปัญหา รัฐบาลควรผลักดันหลักสูตรปริญญาตรีของนักศึกษาภาพยนตร์ให้ปี 3-4 เข้าไปทำงานในกองถ่ายได้แล้วแทนที่จะยังเรียนทฤษฎีอยู่เพื่อให้มีความเข้าใจด้านการทำภาพยนตร์

“ให้รู้ไปเลยว่าทำไมถึงมีคนพูดว่า เมื่อทำหนังไทยหนึ่งเรื่องมีความเสี่ยง หนังไทยออกมา 100% หนังไทยขาดทุนเกิน 90% อาจจะมี 5% ที่ได้กำไร คราวนี้คนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตายหมดแล้ว ทำไมถึงยังมีคนทำอยู่ ก็เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง Passion เป็นเรื่องของคนที่รักภาพยนตร์”

“ภาพยนตร์ไทยตอนขึ้นโรงภาพยนตร์เราเรียกว่า 4 วันอันตราย ขึ้นพฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เมื่อไม่ได้ก็โดนเอาออกไป มันไม่ใช่โรงภาพยนตร์ผิด แต่ถ้าคุณไม่ช่วยเขา เราตายแน่ หนังเรื่องหนึ่งสร้างตั้งแต่คิดบทมาใช้เวลา 2 ปีในการถ่ายทำ กู้ยืมเงินกว่าจะหาเงินมาได้ก็แย่แล้ว คุณเหลือ 4 วันเพื่อตัดสิน เราไม่ได้บอกว่าพอหนังไม่ดี ก็ไม่ต้องไปดูเลย แต่หนังควรจะได้อยู่ในโรงในระดับเวลานึง”

รองประธานสมาพันธ์ ยังเสนออีกว่า รัฐบาลอาจให้เงินอุดหนุนกับภาพยนตร์ที่ทำรายได้เพื่อนำไปเพิ่มความรู้ของนักเขียนบทไทยที่จะทำให้ภาพยนตร์ไทยมีคุณภาพมากขึ้น หรืออาจจะให้โควต้าบัตรชมภาพยนตร์ให้นักเรียนเข้าไปดูภาพยนตร์ฟรี พร้อมเสนอเป้าหมายใหญ่ว่า ควรทำให้วงการภาพยนตร์ของไทยเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์ของโลก 

สุดท้าย คือ การผลักดันนโยบายที่กลายเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเข้มแข็งจากภาครัฐ เช่น เมื่อทำหนังแล้วสามารถที่จะขึ้นโรงภาพยนตร์ได้ มีหน่วยงานที่กำกับดูแล

“ภาคเอกชนช่วยตัวเองมาเป็น 10 ปีแล้ว ต่อไปพวกคุณช่วยเราด้วย”

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานหนึ่งใน 15 หน่วยงานที่ลงนามบันทึกความร่วมมือ “Creative Business Transformation” กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อผลักดัน Soft Power ให้มีพื้นที่สื่อทั้งในไทยและต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา