ปัจจัยโรคระบาดในปี 2020 ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์อย่างหนัก เพราะโรงหนังในหลายประเทศเปิดบริการไม่ได้ ทำให้ค่ายหนังต้องปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ ส่งหนังไปฉายบนสตรีมมิ่งแทน
ในอดีต วงการภาพยนตร์มีนโยบายฉายหนังใหม่ในโรงก่อนเพื่อโกยรายได้จากค่าตั๋วให้เต็มที่ แล้วค่อยไปฉายผ่านช่องทางอื่นๆ (เช่น สตรีมมิ่งหรือขายแผ่น) ในช่วงเวลาถัดไป ซึ่งมีระยะเวลาจากโรงสู่สตรีมมิ่งประมาณ 75-90 วัน
ด้วยกระแสนิยมในบริการสตรีมมิ่งทำให้กรอบระยะเวลานี้ลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อเจอปัญหา COVID ยิ่งช่วยเร่งให้สตูดิโอหนังต้องตัดสินใจลดระยะเวลาลงมาเหลือ 0 วัน นั่นคือฉายบนสตรีมมิ่งวันเดียวกับฉายโรง
กรณีที่โด่งดังของปี 2020 คือ สตูดิโอใหญ่แบบ Disney นำหนังฟอร์มยักษ์ Mulan ฉายบนสตรีมมิ่ง Disney+ วันเดียวกับโรง แต่ยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ชมต้องจ่ายเงิน 30 ดอลลาร์เพื่อดู Mulan แยกเฉพาะจากหนังบน Disney+ ตามปกติ แต่หนังเรื่องล่าสุดคือ Soul ของบริษัท Pixar ในเครือ ก็ฉายแบบสตรีมมิ่งไม่ต้องจ่ายเพิ่มแล้วเช่นกัน
ที่ไปไกลกว่า Disney คือเครือ Warner Media ที่ประกาศว่าหนังปี 2021 ของตัวเองทั้งหมดจะฉายบนสตรีมมิ่ง HBO Max วันเดียวกับโรง เริ่มจาก Wonder Woman 1984 เป็นเรื่องแรกช่วงปลายปี 2020 แถมยังไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ด้วยเหตุผลว่าต้องการดันยอดสมาชิก HBO Max นั่นเอง
ประกาศนี้ไม่เป็นที่ชอบใจของบรรดาผู้กำกับหรือผู้สร้างภาพยนตร์มากนัก เช่น Christopher Nolan ผู้กำกับชื่อดังเจ้าของผลงานล่าสุด Tenet ที่ออกมาวิจารณ์นโยบายนี้ (แต่ Warner เองก็ระบุว่าเหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจส่งหนังลงสตรีมมิ่งวันเดียวกัน ก็เกิดจาก Tenet ทำรายได้ในโรงไม่ได้ตามแผนนั่นแหละ)
ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อีก 2 รายคือ Universal และ Sony Pictures ถึงแม้ไม่ถึงขั้นส่งหนังลงสตรีมมิ่งแบบชนโรงเหมือน Disney/Warner แต่ก็มีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน
Universal เพิ่งเซ็นสัญญากับเชนโรงหนังใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ว่าจะมีระยะเวลาฉายหนังในโรงให้ก่อนอย่างน้อย 17 วัน แล้วจึงค่อยไปฉายบนสตรีมมิ่ง ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับตัวเลข 75 วันในอดีตเมื่อไม่นานมานี้
ในแง่ธุรกิจสตรีมมิ่ง บริษัทแม่ NBCUniversal มีบริการสตรีมมิ่งของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า Peacock (มาจากโลโก้ของ NBC ที่เป็นรูปนกยูง) แต่ยังเน้นที่ฝั่งซีรีส์จากทีวี มากกว่าภาพยนตร์ฉายโรง
ส่วน Sony Pictures อาจเปลี่ยนแปลงแนวทางน้อยที่สุด โดย Tony Vinciquerra ซีอีโอของบริษัทเพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ก็ระบุตัวเลขว่า 30 วันเป็นเวลาที่เหมาะสม ช่วยให้ค่ายหนังสามารถคืนทุนค่าหนังจากการฉายโรงได้ก่อนนำขึ้นสตรีมมิ่ง
ค่ายหนังระดับรองลงมาอย่าง Sony Pictures หรือ Paramount นั้นไม่มีบริการสตรีมมิ่งของตัวเองเหมือนกับ Big Three อย่าง Disney, Warner และ Universal นี่จึงอาจสะท้อนว่าทำไม Sony Pictures ไม่จำเป็นต้องรีบผลักดันหนังของตัวเองลงสู่สตรีมมิ่งเร็วนัก เนื่องจากโมเดลธุรกิจแตกต่างกันนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง CNET และ MediaPost
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา