หรือค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อไป เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คงดอกเบี้ยนโยบาย

ไม่ว่าค่าเงินบาทหรือค่าเงินประเทศใดในโลก มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทั่วโลก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงปัจจัยบวกและปัจจัยลบทั่วโลก

ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างไร?

แบงค์พัน
ธนบัตรไทยมูลค่า 1,000 บาท // ภาพโดย Peter Hellberg from Stockholm, Sweden (Thai baht) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

FED คงดอกเบี้ย แต่เงินบาทมีโอกาศอ่อนค่าต่อเนื่อง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า จากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25-2.50% (ซึ่งคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องมา 3 ครั้งติดต่อกัน) ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย และในระยะสั้น 1 เดือนหลังจากนี้มองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า

ทั้งนี้ค่าเงินบาท (2 พ.ค.2562) เปิดตลาดอ่อนค่าเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ช่วงแรกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโร หลังจากประธาน FED กล่าวหลังการประชุมว่า Fed ยังไม่เห็นเหตุผลที่ปรับจุดยืนดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงเพราะปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

สรุปประเด็นจากการแถลงข่าวของประธาน FED ได้แก่

  • FED ย้ำถึงการใช้ความอดทนในการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดมองว่า FED อาจปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยกรุงศรีฯ มองว่า FED จะคงดอกเบี้ยโนบายตลอดปี 2562
  • FED พึงพอใจกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะขยับสูงขึ้นได้ในอนาคต ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจชะลอตัวลงในไตรมาสแรกปีนี้
  • FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับทุนสำรองส่วนเกิน (Interest Rate on Excess Reserves หรือ IOER) ลงมาที่ 2.35% จากเดิม 2.40% หวังให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้มากขึ้น
  • อย่างไรก็ตามหลังการแถลงข่าวของประธาน FED เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวในลักษณะแบนราบ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกปิดในแดนลบ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบอ่อนค่าเล็กน้อยในช่วง 1 เดือนข้างหน้า เพราะท่าทีของ FED ที่ยังไม่ชัดเจน ความกังวลต่อการชะลอตัวของการค้าโลก และค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเพราะไทยเข้าสู่ฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนกลับไปที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ
แต่มองว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ต้องรอความชัดเจนทางการเมืองในประเทศไทยและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นหลัก

โดยภาพรวมกรุงศรีมองว่าแม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างช้าๆ ในระยะยาว แต่นักลงทุนยังคงลังเลที่จะขายเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่เปราะบาง

ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (วันที่ 2 พ.ค.) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (วันที่ 3 พ.ค.) ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทยในสัปดาห์หน้า

สรุป

ทิศทางค่าเงินบาทยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก ทั้งธนาคารกลางหลักอย่าง FED ธนาคารกลางยุโรป (ECB) นโยบายการเงินของจีน รวมถึงการเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา