ทำไมต้องส่งด่วน – ส่งด่วนคืออะไร – เหตุใดยักษ์ใหญ่ เอสซีจี และ ซีพี จึงลงมาลุย

ขอสัปดาห์ก่อนเห็นข่าว ส่งด่วน แชร์กันให้ทั่วโซเชียล ทั้งในเฟสบุ๊ก และไลน์กรุ๊ปต่างๆ

แสดงให้เห็นถึงความอยากรู้อยากเห็นเรื่องส่งด่วนของผู้บริโภค รวมถึงองค์กรต่างๆ ว่าจะมาช่วยบริษัทเขาขนาดไหน

แต่ว่าส่งด่วนคืออะไร แล้วทำไมต้องส่งด่วน ที่สำคัญยักษ์อย่าง เอสซีจี และ ซีพี ทำไมต้องลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย ลองมาหาคำตอบกัน

เริ่มต้นที่ส่งด่วนคืออะไรกันก่อน

car-battery-837247_1920

ส่งด่วนคือการส่งสินค้าทันทีที่รับคำสั่งจากผู้ใช้บริการ อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนมีแมสเซ็นเจอร์ส่วนตัว เวลาอยากเรียกใช้อะไรก็สั่ง และของจะถึงที่หมายเพียงไม่ถึงชั่วโมง

ต้องไม่ถึงชั่วโมงเท่านั้นนะ ถ้าเกินกว่านั้นในตลาดจะเรียกว่า Same Day หรือส่งภายในวันเดียวกัน

หากไม่นับบริษัทแมสเซ็นเจอร์ยักษ์ใหญ่ 5 – 6 ราย ที่ให้บริการส่งด่วนดั้งเดิม กล่าวคือโทรสั่ง – มารับสินค้า – ชำระเงิน – ไปส่งทันที ก็มีสตาร์ทอัพ รวมถึงบริษัททุนหนาเข้ามาเล่นตลาดนี้กันเยอะ

ถ้าให้ไล่ก็เริ่มที่สตาร์ทอัพคือ Skootar, Rushbike, Lalamove, Grab, Gobike, SOL และ Bananabike ที่เตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้ ต่างใช้นวัตกรรมใหม่ในการขนส่ง เช่นทำทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชั่น หรือตัดเงินด้วยบัตรเครดิตได้

ส่วนถ้าเป็นกลุ่มทุนก็ประกอบด้วย เจมาร์ท ที่เข้ามาให้บริการภายใต้ Mr.Speed และแอสเซนด์ ที่เตรียมให้บริการ SendIt ที่ปัจจุบันใช่แค่ภายในองค์กร และบางบริษัทที่เจรจาธุรกิจแล้ว

business-1427801_1920

แล้วทำไมต้องส่งด่วน

ก่อนหน้านี้สินค้าที่ใช้บริการส่งส่วนส่วนใหญ่เป็นเอกสาร หรือไม่ก็ธุรกิจที่ต้องทำธุรกรรมทางการเงิน เช่นเก็บเช็ค – วางบิล
พอตอนนี้อีคอมเมิร์ซบูม และผู้ซื้อก็ไม่อยากรอสินค้านาน ทำให้บริการส่งด่วนเริ่มถูกใช้ในการส่งสินค้ามากขึ้น

ประกอบกับราคาค่าบริการก็กดลงมาที่เริ่มต้นกิโลเมตรแรก 20 บาท หลังจากนั้นคิดเพิ่ม 8 – 14 บาท/กม. โดยผู้ที่ทำราคานี้คือ Grab

ทำให้คู่แข่งรายอื่นๆ ต้องหาโมเดลราคามาสู้ หรือไม่ก็ชูจุดต่าง เช่น Scootar ก็เก่งในเรื่องงานรับส่งเอกสาร หรือ Gobike ที่เปิดให้พี่วินรับงานส่งเอกสารได้เช่นกัน

แต่จุดอ่อนของบริการส่งด่วนคือ ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ในต่างจังหวัด เพราะครอบคลุมแค่กรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น

ในทางกลับกัน ตอนนี้กลุ่มผู้เล่นขนส่งดั้งเดิม รวมถึงกลุ่มทุนที่มีสายส่งของตัวเองอยู่แล้ว เช่น ไปรษณีย์ไทย, เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส, เอสซีจี และ ซีพี ก็อยากเข้ามาบุกตลาดนี้บ้าง เพราะดีมานด์ค่อนข้างเยอะ และมูลค่าอีคอมเมิร์ซปีล่าสุดก็ 2 ล้านล้านบาท ถ้าอ้างอิงตัวเลขขอสพธอ.

โดยกลุ่มผู้เล่นดั้งเดิมก็พยายามยกระดับบริการจาก Same Day ให้เป็นส่งด่วน แต่คงต้องใช้ระยะเวลาพักหนึ่ง เพราะการบริหารงานแบบส่งด่วน และ Same Day นั้นต่างกันชัดเจน

เช่นส่งด่วนต้องพร้อมทุกสถานที่ ทุกเวลา เพื่อรอรับคำสั่ง แต่ส่งแบบ Same Day ที่ทำกันตอนนี้คือมีกำหนดเวลาไม่เกินเที่ยง และต้องมาส่งมอบสินค้าตามจุดที่กำหนดเท่านั้น

ฝั่ง เอสซีจี และ ซีพี ก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเช่นกัน เพราะสายส่งของตัวเองเน้นรับส่งกันเป็นเวลา ก็คงตอบโจทย์ลูกค้าอีคอมเมิร์ซได้ แต่เต็มที่ก็คงเป็น Same Day

truck-1042600_1280

ถ้าให้สรุป ส่งด่วน ก็คือการส่งสินค้าในทันที แล้วทำไมต้อง ส่งด่วน ก็เพราะผู้เรียกใช้บริการอยากส่งของถึงมือผู้รับได้เร็วที่สุด ส่วนยักษ์ใหญ่ที่เข้ามา เนื่องจากอยากกินเค้กมูลค่า 2 ล้านล้านบ้าง

ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารบริการส่งด่วนรายหนื่ง

ทางนั้นกระซิบบอกมาว่า ตลาดนี้แข่งกันหนัก จนผู้เล่นต่างชาติรายหนึ่งส่งคนมาแทรกซึมกับสายส่งของคู่แข่ง เพื่อแอบส่งงานให้บริษัทของตน ที่สำคัญคนที่แทรกซึมเข้ามายังเป็นระดับหัวหน้าสายส่งอีกด้วย

ดังนั้นผู้ให้บริการที่เสียประโยชน์จึงสั่งทำเอกสารเตรียมฟ้องต่างชาติรายนั้นให้รู้ซะบ้างว่าเล่น แบบนี้ มันไม่โอ สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบไป ไม่รู้ว่าตกลงเจรจากันได้หรือเปล่า เพราะถ้าเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลสงสัยจะยาว

ก็หวังว่าหลังจากมีรายใหญ่เข้ามาเพิ่ม การแข่งขันคงจะแฟร์ และเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นอีก

แต่ไม่เอา Fair แบบฟุตบอลไทยลีกนะ

ผมว่ามันแปลกๆ อิอิ 😀

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา