ทำงานนานๆ อาจเครียดได้ มิตซูบิชิจัดให้ “ช่องรับแสงประดิษฐ์” เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

“ช่องรับแสงประดิษฐ์” นี้ถือว่าสะท้อนสโลแกนมิตซูบิชิที่ว่าไว้ Change for the better “เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า” เขาทำช่องรับแสงปลอมขึ้นมา เพื่อให้คนทำงานนั่งออฟฟิศนานๆ รู้สึกคลายเครียด

ในญี่ปุ่นการนั่งทำงานหลังขดหลังแข็งในออฟฟิศเป็นระยะเวลานานๆ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งต่อกันมายาวนานจนทำให้เป็นที่พูดถึงกันมากว่าเป็นประเทศที่มีการทำงานอย่างหนัก ใช้เวลาในการทำงานนานมากเกินไป แม้ว่าจะไม่ค่อยมีบรรยากาศนั่งทำงานในคอกแคบๆ จนทำให้เป็นโรคกลัวที่แคบ (Claustrophobic) เหมือนบริษัทต่างชาติทั่วไป

แต่การทำงานนานเกินไปก็อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดเหมือนมีผนังห้องบีบเลื่อนเข้ามาใกล้ตัวคนทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ มิตซูบิชิจึงมีแนวคิดที่จะลดความตึงเครียดจากการทำงานที่เกิดขึ้น ด้วยการสร้างช่องรับแสงปลอมขึ้นมา (fake skylight)

ระบบ Misola (Misola system) นี้จะสะท้อนให้เห็นภาพลวงตาว่าเป็นภาพแสงสว่างจากฟ้าที่ส่องลงมาที่หน้าต่าง ภาพที่เห็นจะเลียนแบบภาพจำลองจากท้องฟ้า ซึ่งอาจจะต้องย้ายระบบไฟที่มีอยู่เดิมเพื่อตกแต่งช่องแสงประดิษฐ์นี้เข้าไปแทนที่

นอกจากนี้แสงประดิษฐ์ดังกล่าวยังสามารถจำลองให้เหมือนกับมีพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนตัวผ่านไปได้ด้วย ทำให้เห็นลูกเล่นของช่องรับแสงประดิษฐ์มากขึ้น ทำให้มองเห็นว่าเป็นช่วงเช้า ช่วงบ่าย ช่วงค่ำ

หลายคนอาจแย้งว่าการที่พนักงานเครียดเพราะนั่งทำงานหมดวันหมดคืน จริงๆ แล้วเขาก็อาจจะอยากกลับบ้านก่อนตะวันตกดินมากกว่าหรือเปล่า? ในอีกมุมหนึ่งก็อาจทำให้คนทำงานลืมวันลืมคืนหนักกว่าเก่าเพราะแสงประดิษฐ์นี่เอง

แต่ก็ถือเป็นว่าอีกทางเลือกที่มิตซูบิชิพยายามออกแบบมาเพื่อส่งเสริมบรรยากาศในที่ทำงานให้รู้สึกสบายมากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น และยังทำให้รู้สึกว่าพื้นที่นั้นกว้างและใหญ่มากขึ้นด้วย ซึ่งลักษณะเด่นๆ 2 ข้อหลักก็คือ มันจำลองการรับแสงออกมาได้เหมือนแสงจริงและยังสามารถทำแสงเดิมซ้ำได้ สามารถควบคุมได้อัตโนมัติ

ช่องรับแสงประดิษฐ์ ภาพจาก Mitsubishi

มิตซูบิชิระบุว่าระบบแสงแบบใหม่นี้ช่วยให้คนต่อสู้จากภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้ด้วย (Seasonal Affective Disorder: SAD) SAD เป็นภาวะซึมเศร้าที่เกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ภาวะนี้มักจะเกิดกับผู้ที่อยู่ในเขตประเทศหนาว ซึมเศร้าเป็นระยะ และหายไปในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี

ส่วนใหญ่มีอาการตอนฤดูหนาว ดีขึ้นในช่วงฤดูร้อน และภาวะดังกล่าวส่งผลให้คนมีอารมณ์แปรปรวน การบำบัดด้วยแสงก็ถือเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลขึ้น เพราะมันเชื่อมต่ออารมณ์ ความรู้สึก การนอน และช่วยลดอาการ SAD ได้

ที่มา – Japan Today, Mitsubishi (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์