“แรงศรัทธา” จริง ๆ แล้วไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ต่อเมื่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดของแต่ละประเทศ สามารถหลอมรวมเข้ากับแรงศรัทธา จนกลายเป็นกลยุทธ์ “การท่องเที่ยวสายมู” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งสามารถต่อยอดไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน นับเป็นอีกโมเดลของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่สามารถนำไปพัฒนาในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยได้อย่างไม่ยากนัก ด้วยเม็ดเงินลงทุนของการส่งเสริมที่ไม่มากอย่างที่คิด แต่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากมายหลายเท่าตัว
วรวุฒิ อุ่นใจ กูรูด้าน SME ผู้ก่อตั้ง officemate และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกลยุทธ์ “โมเดลการท่องเที่ยวสายมู” ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยว่า อย่ามองสายมูว่าเป็นเรื่องของความงมงาย แต่ให้มองว่าเป็นเรื่องที่อยู่คู่คนไทยมานานแล้ว คนไทยชอบบนบานสานกล่าว ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเกิดปัญหาก็จะไปบนบานสานกล่าว แล้วเมื่อสำเร็จก็จะกลับไปบนบานสานกล่าวอีกครั้ง เป็นแบบนี้วนเวียนกันไปไม่มีสิ้นสุด วันนี้เราจะต้องพัฒนาความเชื่อและศรัทธาให้กลายเป็น “โมเดลการท่องเที่ยวสายมู” เพื่อสร้างพื้นที่การท่องเที่ยวในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น และต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวในส่วนอื่น ๆ ต่อไป แต่ใช้สายมูเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการ
4 องค์ประกอบผลักดันโมเดลท่องเที่ยวสายมู
- การเริ่มต้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามศรัทธาของแต่ละความเชื่อที่แตกต่างกัน
- ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวและพักผ่อนในสถานที่ใกล้เคียง เพื่อให้ใช้เวลานานขึ้นในพื้นที่
- ดึงดูดด้วยอาหารเลิศรสของแต่ละพื้นที่ เพื่อเติมเต็มประสบการณ์อาหารถิ่นที่หาที่ไหนไม่ได้
- ได้ซื้อสินค้าท้องถิ่นหรือ ช้อปปิ้งตามที่ใจปรารถนา ซึ่งเมื่อทำลูปครบทั้ง 4 ส่วนได้ครบสมบูรณ์จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไม่น่าเชื่อ
พระพรหมเอราวัณกระตุ้นเศรษฐกิจหลายพันล้านบาทต่อปี
พระพรหมเอราวัณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ย่านราชประสงค์ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชื่อสายจีน อย่างฮ่องกง ที่แทบจะต้องสลับหมุนเวียนเดินทางกันเข้ามาเพื่อสักการะบูชากันครบทั้งเกาะฮ่องกง และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเฉพาะส่วนของแรงศรัทธาได้ปีละหลายพันล้านบาท และยังไม่นับรวมย่านโรงแรมที่พักที่เปิดรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ย่านราชประสงค์ที่มองเห็นโรงแรมมากมาย อีกทั้งยังมีศูนย์การค้ามากมายที่เปิดรอรับนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้ากันอย่างเนืองแน่น รวมทั้งย่านอาหารอร่อย ที่เกิดขึ้นโดยรอบ
โมเดลของ “พระพรหมเอราวัณ” เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่าความเชื่อไม่มีวันหมด ทั้งนักท่องเที่ยวหน้าใหม่และหน้าเก่าต่างวลับหมุเวียน กลับมาท่องเที่ยวซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ขาดสาย กระตุ้นให้พื้นที่ราชประสงค์ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากจะมาเที่ยวที่ประเทศไทย และเป็นเช่นนี้มานานหลายสิบปี นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 หลังจากที่ได้มีการอัญเชิญองค์ท้าวมหาพรหม ซึ่งปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ปิดทอง จากการออกแบบและปั้นโดย จิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร มาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ และจึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำตลอดมา
แรงศรัทธาคู่คนไทย ไม่ใช่งมงาย
วรวุฒิ กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมูให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีความชัดเจนในกลยุทธ์ที่จะนำเสนอเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก อย่ามองสายมูว่าเป็นเรื่องของความงมงาย แต่มองว่าเป็นเรื่องที่อยู่คู่คนไทยมานานแล้ว คนไทยชอบบนบานสานกล่าว ไหว้เจ้า เมื่อเกิดปัญหาก็จะไปบนบานสานกล่าว วันนี้เราจะพัฒนาสายมูให้กลายเป็นการท่องเที่ยวสายมู เพื่อต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวในส่วนอื่น ๆ ต่อไป เพียงใช้สายมูเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ก่อน
นอกจากนี้ยังสามารถจัดวางเส้นทางการท่องเที่ยวสายมู ในแต่ละจังหวัดออกมาผสานร่วมกัน โดย 4 สูตรที่สำคัญและจำเป็นต้องมีให้ครบองค์ประกอบ 1.ไหว้พระ 2.ท่องเที่ยว 3.กินของอร่อย และจบด้วย 4.ช้อปปิ้ง หากสามารถทำให้ภาพสายมูชัดขึ้นได้ เชื่อว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 100%
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา