สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT คาดการณ์ว่าปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์น่าจะอยู่ราว 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และ Facebook ก็ยังกินสัดส่วน 32% เป็นอันดับหนึ่งของเงินก้อนนี้เหมือนเดิม
คนไทยใช้งานมากที่สุดยังดึงความเชื่อใจ
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 51 ล้านคน ทำให้ Facebook ยังเป็น Social Media อันดับหนึ่งของคนไทย จึงไม่แปลกที่ถึงแม้ Mark Zuckerberg จะปรับให้ตัวเพจต่างๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ยากขึ้น พร้อมยกระดับเรื่องความเป็นสื่อสังคมให้มากกว่าเดิม ตัวแบรนด์สินค้า และเอเยนซี่ก็ยังต้องพึ่งพา Social Media รายนี้เป็นหลักอยู่ดี
ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า เหตุที่ Facebook ยังเป็นที่หนึ่งในใจนักการตลาด เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย แม้ผู้ใช้บางกลุ่มจะเริ่มหันไปใช้งาน Social Media อื่นๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่น แต่เมื่อมองในแง่การทำธุรกิจจริงๆ Facebook ก็ยังช่วยเรื่องยอดขายได้ดีกว่า อ้างอิงจากเม็ดเงินกว่า 4,400 ล้านบาทที่จะสะพัดในปีนี้
“เมื่อแบรนด์อยากจะขายของหรือนำเสนออะไรสักอย่าง Facebook ก็ยังทำกระแสได้ดีกว่า Social Media อื่นๆ และเมื่อเราไปสอบถามเอเยนซี่ กว่า 80% ก็ตอบว่าลูกค้ายังต้องการใช้ Facebook เป็นเครื่องมือแรกในการทำตลาด ดังนั้นคงจะบอกว่ามันเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าการที่ Facebook ประกาศลด Reach แล้วจะทำให้แบรนด์หันไปใช้โซเชียลอื่นๆ แทน”
YouTube ยังแข็งแกร่งถ้ามองเฉพาะวีดีโอ
ในทางกลับกันถ้ามองเรื่องการทำตลาดด้วยคลิปวีดีโอ ช่องทาง YouTube ยังคงแข็งแกร่ง เพราะเป็นศูนย์รวมวีดีโอที่หลากหลาย แถมมี Influencer ให้เลือกใช้งานจำนวนมาก ซึ่งการทำงานกับคนกลุ่มนี้ แม้จะลงเป็นโฆษณาตรงๆ ผู้บริโภคก็ยังให้ความสนใจเช่นเดิม เพราะต่างก็เข้าใจว่าเป็นโฆษณาและไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียด
“Transparent คือหัวใจของการโฆษณา ซึ่ง Influencer ที่มีความเป็นมืออาชีพต่างตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นทำให้การลงคลิปวีดีโอบน YouTube กับพวกเขา ผู้เข้าชมยอมรับได้ และช่วยให้ YouTube ยังคงมีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 2 เม็ดเงิน 2,604 ล้านบาทหรือ 18% จากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ทั้งหมด 14,000 ล้านบาทในปี 2018”
อย่างไรก็ตามเมื่อว่ากันตามอุตสาหกรรม “รถยนต์” ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งในการใช้สื่อโฆษณาออนไลน์มาโดยตลอด ซึ่งปีนี้ก็คาดว่ายังเป็นแหล่งรายได้หลักกินสัดส่วน 10% รองลงมาเป็นกลุ่มโทรคมนาคมที่ 9% และตามด้วยธุรกิจธนาคาร 8% ส่วนในแง่แพลตฟอร์ม อันดับที่ 3 ของโฆษณาออนไลน์คือ Display Ads โดยอยู่ที่สัดส่วน 11%
โอกาสโฆษณาออนไลน์ยังเติบโตได้อีกมาก
“ถ้าย้อนไปปี 2560 เราคาดการณ์โฆษณาออนไลน์เติบโตที่ 18% แต่สุดท้ายแล้วมันโต 31% ปิดที่ราว 12,000 ล้านบาท เพราะกลุ่มธนาคารนั้นโหมเข้ามาใช้กันเยอะมาก เพื่อแข่งขันกันเรื่อง Cashless Society ซึ่งทำให้ธุรกิจนี้ดูเซ็กซี่ขึ้นไปอีก ดังนั้นปีนี้เพื่อกระตุ้นให้คนไทยใช้โมบายแบงกิ้ง การลดค่า fee และการปรับอีกหลายอย่างทำให้กลุ่มธนาคารมีโอกาสที่จะแข่งขันสูงเหมือนในปีที่ผ่านมา”
ในทางกลับกันเมื่อมองในมุมสื่ออื่นๆ เทียบกับสื่อโฆษณาดิจิทัล โดยเฉพาะกับทีวีดิจิทัลนั้น แบรนด์ต่างๆ ยังค่อนข้างคิดแตกต่างกัน เพราะทีวีดิจิทัลใช้เงินค่อนข้างสูง ทำให้คุณค่าของการทำตลาดต้องสูงตามไปด้วย ส่วนสื่อโฆษณาดิจิทัลที่มีการใช้เงินน้อยกว่า ก็จะมองในเรื่องการใช้งานที่หลากหลาย หรือมีหลายแคมเปญมากกว่า
ทั้งนี้ตัวเลขทั้งหมดนั้นมาจากการสำรวจจากดิจิทัลเอเยนซี่ 22 รายเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีบริษัทเอสเอ็มอี หรือบุคคลทั่วไปอีกจำนวนมากที่ซื้อสื่อดิจิทัลด้วยตัวเอง ทำให้ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาดิิจิทัลอาจมากกว่าจำนวนนี้ และแสดงความน่าเชื่อถือของสื่อโฆษณาดิจิทัลได้เป็นอย่างดี
สรุป
โฆษณาดิจิทัลคือสิ่งที่ใครๆ ก็พูดถึงในตอนนี้ เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด และใช้เงินน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ ดังนั้นทิศทางการเติบโตของสื่อโฆษณาตัวนี้น่าจะไปได้อีกไกล และถึงแพลตฟอร์มต่างๆ จะมีการปรับรูปแบบขนาดไหน แบรนด์ และเอเยนซี่ก็ยังเชื่อมั่นในการใช้สื่อตัวนี้เข้าถึงผู้บริโภคเพื่อเพิ่มยอดขายอยู่ดี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา