ผู้ตามเท่านั้นที่จะเห็นหลังผู้นำ ย้อนรอย Facebook ลอกแทบทุกอย่างจาก Snapchat

ถ้ามองย้อนดูการเปลี่ยนแปลงของ Facebook ตลอดปี 2016 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดย่อมหนีไม่พ้น Facebook Live แพลตฟอร์มการถ่ายทอดสดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และสร้างแรงกดดันให้กับคู่แข่งทั้ง Youtube Live และ Periscope ของ Twitter อย่างมาก

แต่นอกเหนือจาก Facebook Live แล้ว ฟีเจอร์ใหม่อย่างอื่นๆ ของ Facebook และผลิตภัณฑ์ในเครือคือ Instagram และ Messenger กลับเดินตามรอยเท้าของบริษัทแห่งหนึ่งอย่างมาก จนถูกวิจารณ์ไม่น้อยว่า “ลอก” อย่างชัดเจน

บริษัทที่ว่านั้นคือ Snap Inc. เจ้าของแอพแชทยอดนิยมอีกตัว Snapchat

รู้จัก Snapchat แอพส่งข้อความแห่งอนาคต

Snapchat ไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากนัก แต่กลับฮิตถล่มทลายในหมู่วัยรุ่นฝรั่ง ที่อารยธรรมการใช้กล้องสมาร์ทโฟนส่งภาพให้กัน กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว

Snapchat เริ่มต้นจากแอพส่งข้อความที่ไม่ถาวร ข้อความจะถูกลบตัวเองอัตโนมัติภายในเวลาที่กำหนด รูปแบบการใช้งานจะเน้นใช้กล้องถ่ายภาพหรือวิดีโอ แทนการพิมพ์ข้อความเป็นตัวหนังสือ

กฎเกณฑ์ของ Snapchat ที่ภาพทำลายตัวเองอัตโนมัติ ส่งผลให้ผู้ใช้งาน “กล้า” ที่จะถ่ายรูปแปลกๆ ส่งให้กันมากขึ้น (และแน่นอนว่าภาพยิ่งตลก การส่งยิ่งสนุกขึ้น) เพราะรู้ว่าภาพของตัวเองจะหายไปในเวลาที่กำหนด ไม่เป็นเรื่องถาวรหรือถูกนำไปล้อในภายหลัง ความนิยมของ Snapchat ถูกต่อยอดด้วยกรอบรูป สติ๊กเกอร์หรือฟิลเตอร์ต่างๆ ที่ใช้ตกแต่งภาพของตัวเองให้สนุกมากขึ้น

Snapchat ยุคแรกๆ ถูกมองว่าเป็นแอพส่งภาพโป๊เปลือยให้กัน แต่ในที่สุดแล้ว Snapchat ก็สามารถฝ่าฟันเสียงวิจารณ์ ขึ้นมายืนแถวหน้าในฐานะเครื่องมือสื่อสารของคนรุ่นใหม่ ที่มีกล้องมือถือติดตัว ส่งรูปหรือวิดีโอให้กันในหมู่เพื่อนสนิทมิตรสหายได้ตลอดเวลา ภายหลัง Snapchat จึงพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง Stories ที่เป็นการโพสต์ “เรื่องราวประจำวัน” ของเราให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้กดเข้ามาดูเองด้วย แทนการส่งข้อความหากันโดยตรง

Snapchat Stories

ก้าวที่เดินตาม Facebook ลอกฟีเจอร์ของ Snapchat

ความสำเร็จของ Snapchat มาจากวิธีคิดที่ล้ำยุคการแชทด้วยข้อความไปอีกขั้น และกลุ่มลูกค้าหลักของ Snapchat ก็คือกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบโซเชียลและการแชร์ ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงในอนาคต

Snapchat กลายเป็นคู่แข่งโดยตรงของ Facebook (ที่มีทั้ง WhatsApp, Messenger, Instagram) ที่เริ่มมีอัตราการเติบโตช้าลง ส่งผลให้ Facebook ต้องหันมาจับตามอง Snapchat อย่างจริงจัง แถมยังเคยมีข่าวว่า Facebook เคยเจรจาขอซื้อ Snapchat ในราคา 3 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2013 แต่ไม่สำเร็จ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ Facebook ออกฟีเจอร์หลายอย่างที่ “ได้แรงบันดาลใจ” มาจาก Snapchat เป็นอย่างมาก ตัวอย่างฟีเจอร์ที่เหมือนราวกับลอกกันมา มีดังนี้

Poke

ความพยายามครั้งแรกของ Facebook ในการโคลน Snapchat เริ่มต้นเมื่อปี 2012 โดยออกแอพแยกเฉพาะชื่อว่า Poke เอาไว้ “แกล้ง” เพื่อนโดยส่งภาพหรือวิดีโอให้กัน

เริ่มเปิดใช้งาน: ธันวาคม 2012

Slingshot

ความพยายามช่วงแรกๆ ของ Facebook ดูยังไม่แน่ใจกับแนวทางของ Snapchat มากนัก และใช้วิธีสร้างแอพแนวทดลองขึ้นมาให้ดาวน์โหลดแยกจากแอพ Facebook หลัก โดยใช้งานทีมพิเศษที่ชื่อ Facebook Creative Labs ซึ่งสร้างมาทดลองไอเดียใหม่ๆ โดยเฉพาะ

แอพตัวที่สองที่ลอกแนวคิดของ Snapchat ใช้ชื่อว่า Slingshot ที่เน้นการแชร์ภาพและวิดีโอเป็นหลัก แอพเปิดตัวในปี 2014 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องปิดตัวไปในภายหลัง

เริ่มเปิดใช้งาน: มิถุนายน 2014

Instagram Stories

พอมาถึงปี 2016 Facebook เปลี่ยนนโยบายใหม่ ไม่แยกเป็นแอพตัวใหม่อีกแล้ว แต่อาศัยจุดเด่นของตัวเองที่มีฐานผู้ใช้จำนวนมหาศาลทั้ง Facebook, Messenger, Instagram เพิ่มฟีเจอร์แบบเดียวกับ Snapchat เข้ามาในแอพเหล่านี้แทน

ฟีเจอร์แรกที่เหมือนชนิดลอกกันมาคือ Instagram พัฒนาตัวเองจากแอพโพสต์ภาพแบบถาวร มาแสดงภาพแบบชั่วคราวในชื่อว่า Instagram Stories โดยอาศัยฐานผู้ใช้ Instagram จำนวนมากที่โพสต์ภาพของตัวเองอยู่แล้ว ก็ขยายมาเป็นการโพสต์ภาพแบบชั่วคราวที่จะลบตัวเองภายใน 24 ชั่วโมงแทน

Instagram Stories

Messenger My Day

ไม่ใช่แค่ Instagram เท่านั้นที่มีฟีเจอร์ “บันทึกเรื่องราวประจำวันให้เพื่อนเห็น” เพราะ Facebook Messenger เองก็มีฟีเจอร์แบบเดียวกันในชื่อ My Day (หรือบางทีเรียก Messenger Day) เพิ่มเข้ามาในช่วงปลายปี 2016 ซึ่งมีลักษณะการใช้งานเหมือนกับ Instagram Stories ทุกประการ

เริ่มเปิดใช้งาน: ตุลาคม 2016

Messenger My Day

Instagram Direct ลบข้อความอัตโนมัติ

นอกจากการโพสต์ภาพทั่วไปแล้ว Instagram ยังมีฟีเจอร์ส่งข้อความหลังไมค์ให้กันชื่อ Instagram Direct ซึ่งภายหลังพัฒนามาเป็นการส่งภาพและข้อความที่หายไปโดยอัตโนมัติ หลังผู้รับเปิดอ่านแล้ว อันนี้ถือเป็นการลอกฟีเจอร์พื้นฐานของ Snapchat มาโดยตรง

เริ่มเปิดใช้งาน: พฤศจิกายน 2016

Instagram Direct

Stickers, Filters, Frames

ฟีเจอร์นี้จะเรียกว่าลอกก็อาจไม่เต็มปากนัก เพราะเป็นฟีเจอร์ที่แอพแชททุกตัวทำเหมือนๆ กันหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่า Snapchat เป็นแอพตัวแรกๆ ที่เพิ่มสติ๊กเกอร์ ฟิลเตอร์ หรือกรอบรูป มาให้ตกแต่งภาพหรือวิดีโอกันสนุกๆ จากนั้น Facebook ก็ทำตามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผ่านแอพ Facebook ตัวหลัก, Messenger หรือว่า Instagram

ฟิลเตอร์สำหรับวิดีโอของ Facebook

Snapcode vs Messenger Code

Snapchat มีฟีเจอร์ชื่อว่า Snapcode เป็นเหมือนกับ QR Code ที่หน้าตาดูดีมีไอคอน เพื่อให้ใช้กล้องถ่ายภาพโค้ดแล้วติดตามบัญชีนั้นโดยง่าย

Facebook Messenger มีฟีเจอร์โค้ดแบบนี้เพิ่มเข้ามาในปี 2016 หลังเพิ่มระบบแช็ตบ็อตเพื่อให้แบรนด์มาสร้างบัญชีใน Messenger ได้ด้วย

เริ่มเปิดใช้งาน: เมษายน 2016

Snapcode vs Messenger Code

Messenger Camera

ฟีเจอร์ใหม่ช่วงปลายปี 2016 ของ Facebook Messenger ที่เปิดเข้าแอพมาก็จะเห็นไอคอนกล้องเด่นเป็นสง่า จูงใจให้คนกดถ่ายภาพก่อนแล้วค่อยเลือกส่งให้เพื่อนทีหลัง ซึ่งเป็น GUI ลักษณะเดียวกับแอพ Snapchat ที่เปิดมาแล้วจะเปิดการทำงานของกล้องก่อนเลย

เริ่มเปิดใช้งาน: ธันวาคม 2016

Messenger Camera

Snapchat Discover vs Facebook Collections

Snapchat มีฟีเจอร์ติดตามบัญชีของแบรนด์สื่อต่างๆ เช่น CNN, ESPN, Daily Mail, National Geographic โดยจะเป็นการติดตามข่าวสารรอบวันผ่านสื่อประเภทภาพถ่ายและวิดีโอ ฟีเจอร์นี้เรียกว่า Snapchat Discover และเปิดตัวในเดือนมกราคม 2015

ล่าสุดถึงแม้ยังไม่มีข่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข่าวลือออกมาว่า Facebook กำลังทำฟีเจอร์แบบเดียวกันในชื่อ Facebook Collections

ลอกก็บอกว่าลอก ผู้ก่อตั้ง Instagram ยอมรับ เอาไอเดียมาจาก Snapchat

ในแง่การถกเถียงว่า Facebook ลอกแนวทางของ Snapchat จริงหรือไม่ คงไม่ต้องตั้งคำถามกันอีกแล้ว เพราะ Kevin Systrom ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Instagram ก็ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อครั้งเปิดตัวฟีเจอร์ Stories ว่า พวกเขา (หมายถึง Snapchat) ควรได้รับเครดิตในเรื่องนี้ (ข้อมูลจาก TechCrunch)

“Totally,” Systrom interrupted me. “They deserve all the credit.”

อย่างไรก็ตาม ในแง่ความขัดแย้งของสองบริษัทก็ดูจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของฝั่ง Snapchat คือเลือกปิดเพจบน Facebook ที่มีแฟนถึง 6.5 ล้านคนไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 ที่ผ่านมา โดยเป็นการปิดเพจแบบเงียบๆ ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร แต่บริษัทกลับยังคงรักษาบัญชี @snapchat บน Twitter ที่ไม่มีความขัดแย้งระหว่างกันต่อไป

ความสำเร็จของ Facebook ถูกพิสูจน์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ในขณะที่ Snap Inc. จะต้องเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ คือเข้าขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2017 ที่กำลังจะมาถึง ต้องรอดูกันว่าในระยะยาวแล้ว Snap Inc. ที่ได้เปรียบกว่าในแง่นวัตกรรม จะสามารถก้าวขึ้นไปเทียบชั้นกับ Facebook ที่มีขนาดใหญ่กว่ากันมากได้แค่ไหน

ข้อมูลบางส่วนจาก Recode

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา