โลกหมุนสู่ดิจิทัลแล้วไง? “สีไม้” ยังขายดีต่อไป Faber Castell ทำยอดขายสูงสุดในปีที่ผ่านมา

แบรนด์เครื่องเขียนเก่าอย่าง Faber Castell ยังคงยืนหยัดท่ามกลางยุคดิจิทัลที่ผู้คนหันไปใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบใหม่ๆ อะไรทำให้แบรนด์เก่าแก่แบรนด์นี้ยังประสบความสำเร็จ?

Photo: Faber Castell

เครื่องเขียน-สีไม้ ฯลฯ ยังขายดี แม้ว่าโลกจะโกดิจิทัลกันแล้ว

การเปลี่ยนผ่านของยุคดิจิทัลอาจทำให้ธุรกิจดั้งเดิมหลายรายตายลง แต่ไม่ใช่กับแบรนด์เก่าแก่อย่าง Faber Castell เพราะไม่ว่าโลกจะหมุนเข้าสู่ดิจิทัลอย่างไร ธุรกิจเครื่องเขียนอายุกว่า 256 ปีรายนี้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างสวยงาม

  • ในรอบปี 2016/2017 ที่ผ่านมา Faber Castell ทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 667 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท
  • ส่วนในปี 2017/2018 Faber Castell เชื่อว่ายอดขายจะเติบโตขึ้นอีก เพราะเทรนด์การจดสมุดบันทึกแบบ bullet journals ที่กำลังฮิตกันมากในยุคนี้ ทำให้ธุรกิจเครื่องเขียน โดยเฉพาะปากกาสีชนิดต่างๆ ยังได้รับความนิยมสูง

Faber Castell มองว่า แม้โลกจะเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล ผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือ แต่เชื่อเถอะว่าคนยุคนี้ยังรักและยังชอบที่จะสร้างสรรค์งานด้วยมือของตัวเองอยู่ และแน่นอน-ยอดขายที่สูงขึ้นในวันที่โลกกำลังหมุนไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น การันตีความเชื่อมั่นนี้ได้เต็มๆ

ตัวอย่างหน้าตาของ bullet journals

Faber Castell จาก ธุรกิจครอบครัว สู่ ซีอีโอคนนอก

Faber Castell เป็นบริษัทเครื่องเขียนจากประเทศเยอรมนี ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1761 โดย Kaspar Faber (คัสพาร์ ฟาเบอร์) นับจนถึงปัจจุบันเป็นธุรกิจที่ดำเนินมาแล้วถึง 256 ปี ปัจจุบันปีพนักงาน 7,000 คน ใน 100 ประเทศทั่วโลก ส่วนโรงงานผลิตมีเพียง 14 แห่งทั่วโลกเท่านั้น โดยประเทศบราซิลเป็นประเทศที่มีโรงงานขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นตลาดที่ขายเครื่องเขียนของแบรนด์ได้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจกว่า 2 ศตวรรษ ผ่านมือคนในครอบครัวมาแล้ว 9 รุ่น (generations) มีหลายครั้งที่ Faber Castell ประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจนทำให้มีคำถามว่าธุรกิจอยู่รอดมานานขนาดนี้ได้อย่างไร

  • ในช่วงทศวรรษ 1970 หนึ่งในสินค้าของ Faber Castell ที่ได้ล้มหายตายจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ คือไม้บรรทัดที่เรียกว่า slide rules (สไลด์ รูล) เป็นไม้บรรทัดที่ใช้ในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ สุดท้ายช่วงนั้นมีเครื่องคิดเลขออกมาสู่ตลาด ก็เป็นอันว่าถูก disrupt ไปเรียบร้อย
  • หรืออย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานในเยอรมนีถูกพวกนาซียึดไป แต่หลังจากสิ้นสุดสงคราม นักข่าวชาวอเมริกันก็มาทำข่าวสืบและเรียกร้องให้มีการดำเนินการทางกฎหมาย โรงงานจึงได้กลับมาเป็นของครอบครัวอีกครั้ง
Photo: Shutterstock

ล่าสุด ปี 2017 Faber Castell ได้แต่งตั้ง Daniel Rogger ขึ้นมาเป็นผู้บริหารของบริษัท โดยเป็นคนแรกที่ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนี้และมาจากนอกครอบครัว เพราะตลอดระยะเวลา 255 ปีที่ผ่าน ซีอีโอของบริษัทเป็นคนในครอบครัวมาโดยตลอด

วิสัยทัศน์ของ Rogger ซีอีโอคนนอกน่าสนใจ เพราะเขามองว่า ดิจิทัลคือพื้นที่ที่ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น โดยเขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผูบริโภคยุคนี้ไว้ว่า “ผมเห็นว่าผู้คนที่อยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลต่างหันกลับไปใช้วิธีการแบบ manual [หมายถึงงานทำมือ เช่น วาดรูป ระบายสี ออกแนวเป็นงานศิลปะ] มากขึ้น เพื่อแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขา มันเหมือนกับเป็นเทรนด์ที่มาต่อกรกับกระแสดิจิทัล ซึ่งเราชอบมาก”

Daniel Rogger
Daniel Rogger

ปี 2017 ที่ผ่านมา Faber Castell ยังได้ไปจัดงานแกลอรี่สุดยิ่งใหญ่ในประเทศบราซิล ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของแบรนด์ นอกจากนั้นยังได้ไปตั้งสถาบันศิลปะในญี่ปุ่นและเลบานอน ซึ่งจากข้อมูลระบุว่าสถาบันใน 2 แห่งนี้ผลิตสีไม้ได้ถึงปีละ 150 ชิ้น

Photo: Shutterstock

ที่มา – Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา