“อีวอลเล็ต” กับความอลม่าน รัฐ – เอกชน – สตาร์ทอัพ บู๊กันเต็มสูบ

wallet-1010601_1920

ตอนนี้อีวอลเล็ตแข่งกันหนักจริงๆ

เพราะผู้ได้รับใบอนุญาตเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E – Money บัญชี ค มีถึง 14 รายที่ไม่ใช่ธนาคาร

ธนาคารแห่งประเทศไทยให้คำนิยามกลุ่มนี้ว่า เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ให้บริการหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน

ผู้เล่นในตลาดนี้ที่รู้จักกันดีก็กลุ่มโอเปอเรเตอร์ เช่น เอ็มเปย์, เพย์สบาย และทรูมันนี่

แต่ยังมีกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาในสงครามนี้อีก อาทิ แอร์เพย์, ทีทูพี ภายใต้แบรนด์ Deep Pocket, เอ็มโอแอล และแรบบิทไลน์เพย์

การแข่งขันในตอนนี้อยู่ที่การดัมพ์ราคาค่าบริการ และการดึงบริการที่หลากหลายเข้ามา

ถ้าว่ากันที่ดัมพ์ราคาค่าบริการ

บางรายก็ไม่คิดค่าบริการโอน – ถอนเงินจากระบบ เพื่อเปลี่ยนอีมันนี่เป็นเงินจริง หรือเปลี่ยนเงินจริงเป็นอีมันนี่ รวมถึงกลุ่มค่าธรรมเนียมในการชำระบริการต่างๆ ก็ไม่เก็บ หรือถ้าเก็บก็เหมือนไม่ได้เก็บ

เช่น แอร์เพย์ ที่จะนำค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น เติมเข้าไปในอีวอลเล็ตแทน

14424886_1291277830896805_6374467579279487969_o

ส่วนการหาบริการใหม่เข้ามา

ที่เด่นที่สุดก็คงไม่พ้น ทรูมันนี่

เพราะสามารถนำเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปชำระค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นได้ ถือเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับอีวอลเล็ต ที่ปกติจะเห็นแค่ใช้จ่ายบิล หรือเติมเงินเกมออนไลน์

14433150_1383863361643784_6224687817157026372_n

แต่ตอนนี้ไม่ได้มีแค่ผู้เล่นท้องถิ่นที่เข้ามาทำตลาดในไทย

ไม่กี่สัปดาห์ก่อน อาลีเพย์ ประกาศทำตลาดในประเทศไทยชัดเจน แต่เจาะกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ซึ่งคงไม่กระทบกับผู้เล่นอีวอลเล็ตในประเทศไทย แต่ก็ต้องจับตามองการร่วมมือกับ แอสเซนด์ ทรูมันนี่ หากการเจรจาร่วมหุ้นกันสำเร็จ

หลังจากนี้ก็มี วีแชทเพย์ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนเช่นกันเข้ามาอีก ซึ่งจะเปิดตัววันที่ 29 ก.ย. นี้

และอีกตัวที่น่าสนใจ ซัมซุงเพย์ ที่จะเปิดตัวในไทยครั้งแรก 29 ก.ย. เช่นกัน คาดว่าจะตอบโจทย์ผู้ใช้งานซัมซุงในประเทศไทยเป็นหลัก เมื่อดูจากบริการในเกาหลีแล้ว ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา

ที่แน่ๆ ถึงพวกเขาจะใหม่ แต่มีฐานลูกค้าในมืออยู่แล้วเป็นผู้ใช้มือถือซัมซุงที่มีอยู่เป็นล้านราย เชื่อว่าโมเดลให้บริการไม่ธรรมดาแน่นอน

ดังนั้นการเข้ามาทำตลาดก็คงไม่ใช่เรื่องยาก ยิ่งเมื่อดูการใช้งานกว่า 1 ปีที่ผ่านมาในเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะอยากให้ถึงวันเปิดบริการเร็วๆ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไร อดใจรออีกนิด Brand Inside จะเอามาเล่าให้ฟังแน่นอน

ในทางกลับกัน

ผู้เล่นที่อยากเข้ามาทำตลาดอีวอลเล็ต และไม่มีฐานลูกค้าในมือ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

เนื่องจากเมื่อไม่มีฐานผู้ใช้ การอัดแคมเปญหนักๆ ก็เหมือนการเผาเงิน และสุดท้ายก็จะสู้ความยั่งยืนของรายเดิมไม่ได้

แต่กลุ่มรายเดิมก็จะเจอปัญหาเหมือนกัน ผ่านการที่รัฐบาลเข้า Disrupt

ถามว่า Disrupt อย่างไร ก็ พร้อมเพย์ ไง

เฟสแรกที่จะเริ่มตั้งแต่ 31 ต.ค. ในบริการโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวบัตรประชาชนก่อน

14435140_10154561113608545_1886894115651707973_o

ซึ่งผู้ให้บริการอีวอลเล็ตยังมองว่าสิวๆ เพราะบริการตัวเองไม่ได้เน้นโอนเงินอยู่แล้ว

จนรัฐบาล และธนาคารต่างจัดแคมเปญแจกทอง แจกเงินเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสมัครใช้งาน

แต่ที่หนักน่าจะเป็นเฟสสองที่สามารถใช้พร้อมเพย์เพื่อชำระบิลต่างๆ ได้

ตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามาเมื่อไหร่ แต่รัฐบอกว่าเร็วๆ นี้แน่

ถามว่าหนักเพราะอะไร

ก็ปัจจุบันรายได้หลักของอีวอลเล็ตคือค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการชำระบริการต่างๆ แต่เมื่อรัฐเข้ามา และให้ชำระโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม ใครจะไม่ไปสมัครบ้างล่ะ

คราวนี้ก็เป็นการบ้านของผู้เล่นแต่ละรายแล้วว่าจะสู้กับเรื่องนี้อย่างไร

ใครไม่ทำการบ้านก็แพ้อยู่แล้ว ยิ่งใครมีฐานลูกค้าไม่ชัดเจนยิ่งไปกันใหญ่

เกมนี้คงรู้ผลอีกไม่นานว่าจะเหลือใครบ้าง

เพราะขนาดโอเปอเรเตอร์ที่ว่าแข็งๆ

บางรายตอนนี้ยังแทบไม่มีความเคลื่อนไหวในตลาดเลย

อ้างอิงรูปภาพ // เฟสบุ๊กแอร์เพย์, ทรูมันนี่ และธนาคารไทยพาณิชย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา