น้ำแร่ Evian เปิดตัวขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่รักสิ่งแวดล้อม ไม่มีฉลาก ไร้บาร์โค้ด แต่รีไซเคิลได้ 100%

ปัญหาใหญ่ของสินค้าที่ใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ คือ การจะทำอย่างไรให้นำบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพราะกระบวนการรีไซเคิลมีความยุ่งยาก และไม่ใช่ทุกๆ ส่วนของบรรจุภัณฑ์จะรีไซเคิลได้ทั้งหมด

Evian ผู้ผลิตน้ำแร่บรรจุขวดชื่อดังจากประเทศฝรั่งเศส ได้ทำการออกแบบขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาการรีไซเคิล โดยเลิกใช้แผ่นพลาสติกบางๆ ที่ใช้บอกข้อมูลของผลิตภัณฑ์ออก เพราะเป็นส่วนที่รีไซเคิลได้ยาก แต่จะเปลี่ยนไปใช้การปั๊มตราโลโก้สินค้า และข้อมูลผลิตภัณฑ์ลงบนเนื้อพลาสติกของขวดแทน

Shweta Harit ผู้บริหารของ Evian ที่ทำหน้าที่ดูแลแบรนด์ Evian ทั่วโลก เล่าว่า Evian ตั้งเป้าหมายว่าขวดบรรจุภัณฑ์ที่ Evian ใช้ทั้งหมดต้องทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% ภายในปี 2025 รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดต้องสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลาสติกแบบหมุนเวียน ไม่มีการเสียทรัพยากร

แผ่นพลาสติกบางๆ ที่ใช้บอกข้อมูลบนขวดบรรจุภัณฑ์ ใช้ผลิตจากพลาสติกคนละประเภทกับตัวขวด (ขวด PET) ซึ่งโรงงานรีไซเคิลจำเป็นต้องแยกชิ้นส่วนต่างๆ ออกจากขวดบรรจุภัณฑ์ก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แม้ว่าแผ่นพลาสติกบอกข้อมูลจะสามารถรีไซเคิลได้ แต่ก็สามารถทำได้ยากกว่าการรีไซเคิลขวด PET และไม่ใช่ทุกโรงงานจะสามารถรีไซเคิลได้

ขวดน้ำ Evian แบบใหม่ ภาพจาก evian.com

Evian ใช้เวลานานกว่า 2 ปีในการพัฒนาและออกแบบขวดบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ที่ไม่ต้องใช้แผ่นพลาสติกบางๆ เพื่อแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์อีกต่อไป เพราะต้องมีการทดสอบคุณภาพว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยเพียงพอ แต่ขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่นี้ไม่ได้วางขายที่ร้านค้าต่างๆ ทั่วโลก แต่จะวางขายในร้านอาหาร โรงแรม และจุดบริการสาธารณะบางแห่งเท่านั้น เพราะบรรจุภัณฑ์ใหม่นี้จะไม่มีบาร์โค้ด จึงยังไม่สามารถวางขายตามร้านค้าทั่วไป ที่ต้องมีการยิงบาร์โค้ดเพื่อชำระเงินได้

ความพยายามของ Evian นับว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะในขณะนี้มีขวดบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ประกอบกับความต้องการใช้ขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การผลิตพลาสติกใหม่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการ

นอกเหนือจากความพยายามของ Evian ในการทำให้ขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกของตัวเองสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% แล้ว ผู้ผลิตสินค้าอื่นๆ ก็ใช้ความพยายามในรูปแบบอื่นๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก เป็นอลูมิเนียม ที่มีอัตราการรีไซเคิลได้ง่ายกว่า

ที่มา – Fastcompany

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา