รถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นหมัน เมื่อหลายชาติอาเซียนบีบผู้ผลิตรถยนต์ให้ใช้ประเทศตัวเองเป็นฐานผลิต

ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ แต่ด้วยนโยบายบีบไม่ให้แบรนด์ต่างๆ นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศมาขายในประเทศตัวเอง รวมถึงการช่วยเหลือภาษีให้กับผู้ผลิตท้องถิ่น ก็อาจทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดยาก

electric vehicle ev
รถยนต์ไฟฟ้า // ภาพ pixabay.com

นโยบายที่ไม่ค่อยเอื้อการนำเข้ารถยนต์

การขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องงายเลย จึงไม่แปลกที่จุดเริ่มต้นของการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆ (Hybrid, Plug-in Hybrid หรือ Battery Electric Vehicle) นั้นต้องเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น, จีน หรือสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยนโยบายที่ไม่เอื้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้มันไม่จูงใจให้หลายแบรนด์นำเข้ามา

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่มาตั้งไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆ ในประเทศไทย แต่ต้องใช้ชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับชุดแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศไทยเท่านั้นจึงจะได้สิทธิ์ดังกล่าว ก็ทำให้หลายแบรนด์คิดแล้วคิดอีก แต่บางเจ้าก็ตัดสินใจร่วมโครงการนี้แล้ว

Mercedes-Benz หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ที่ของสิทธิ์สนับสนุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามแม้จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่ด้วยประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการตั้งกำแพงการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ เพื่อกดดันให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตที่ประเทศตัวเอง หรือสนับสนุนแบรนด์รถยนต์ท้องถิ่น ก็ทำให้การนำรถยนต์ไฟฟ้าไปทำตลาดก็ยากขึ้นอีก

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเวียดนาม-มาเลเซีย

สำหรับตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีมี 2 ประเทศคือ “เวียดนาม” เพราะทางรัฐบาลของประเทศนี้ได้ออกนโยบายเชิงกีดกันทางการค้าโดยไม่ได้ใช้มาตรการทางภาษี (Non-Tariff) ผ่านการบังคับให้รถยนต์จากต่างประเทศนอกจากต้องผ่านมาตรฐานจากประเทศที่ผลิตแล้ว ยังต้องมาถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ประเทศเวียดนามด้วย

ภาพจาก Facebook ของ Toyota Hilux Revo Thailand

และจากเรื่องนี้ทำให้ Toyota ไม่สามารถนำเข้ารถกระบะที่ผลิตในประเทศไทย, รถ SUV ที่ผลิตในประเทศอินโดนิเซีย รวมถึงรถแบรนด์ Lexus ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นได้ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยรถยนต์บางส่วนต้องติดค้างอยู่ที่ขั้นตอนการตรวจสอบในประเทศหลายเดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค.

ขณะเดียวกัน “มาเลเซีย” ก็เป็นอีกประเทศที่สนับสนุนแบรนด์รถยนต์ท้องถิ่นเช่น Proton ทั้งในแง่มาตรการภาษี รวมถึงงบประมาณวิจัย และพัฒนา เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ แถม Mahathir Mohamad นายกรัฐมนตรีของมาเลียเซีย ยังมองว่าการนำเขารถยนต์นั้นทำให้แบรนด์ท้องถิ่นเหล่านี้เติบโตลำบาก

รถยนต์ Proton ของมาเลเซีย

แต่ละประเทศกีดกัน ก็ทำให้ยากจะเติบโต

อย่างไรก็ตามการผลิตรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีถึง 4 ล้านคันในปี 2560 ซึ่ง 80% ของจำนวนนี้ผลิตในประเทศไทย และประเทศอินโดนิเซีย แสดงให้เห็นว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องนำเข้ารถยนต์จากสองประเทศนี้ หรือไม่ก็ต้องสร้างแบรนด์รถยนต์ประจำเอง

ที่สำคัญตัวแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันการนำเข้าที่สุดก็คงไม่พ้นแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่น เพราะฐานผลิตหลักก็อยู่ในสองประเทศนี้ ส่วนในประเทศอื่นๆ ก็มีเพียงโรงงานที่มีกำลังผลิตไม่มาก เช่นในเวียดนาม Toyota ก็สามารถผลิตได้แค่รถยนต์ขนาดเล็กเท่านั้น

Honda City รุ่นใหม่ที่ผลิตในประเทศไทย

จึงเชื่อว่าการกีดกันในลักษณะเดียวกันนี้อาจจะเกิดกับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของหลายๆ แบรนด์ก็เป็นได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วก็ต้องอาศัยการนำเข้ารถยนต์จากฐานผลิตใหญ่ๆ เช่นในประเทศไทย กับอินโดนิเซีย ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานอย่างแพร่หลายก็อาจลำบาก

สรุป

ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางภาษีในการสร้างโรงงานภายในประเทศ หรือการกีดกันทางการค้าโดยไม่ใช้มาตรการทางภาษี ก็กระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งนั้น โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใตถึง 80% ที่จะให้ไปตั้งโรงงานในทุกประเทศก็คงลำบาก

ซึ่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็คงไม่ต่างกัน

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา