สรุปแล้วเราจะได้ดูฟุตบอลยูโร 2020 หรือไม่?

football
ภาพจาก Pixabay

11 มิ.ย. 2564 วันเริ่มฟาดแข้ง ศึกฟุตบอลยูโร 2020 (แต่นี่คือปี 2021)

ครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่น เพราะไม่มีประเทศเจ้าภาพ แต่จะกระจายการแข่งขันไป 11 ประเทศ

เช่น อิตาลี, เดนมาร์ก, รัสเซีย, สเปน, เยอรมนี และนัดชิงชนะเลิศจะจัดที่อังกฤษ

ปกติแล้วเหลือเวลาแค่นี้ กระแสฟุตบอลยูโร 2020 ในประเทศไทยต้องคึกครื้นไม่มากก็น้อย

ไล่ตั้งแต่การประกาศช่องถ่ายทอดสด, การส่งไปรษณียบัตรทายทีมแชมป์ หรือแบรนด์สินค้าอุปโภค-บริโภคที่เกาะกระแสนี้เพื่อเพิ่มยอดขาย

อย่างน้อย ๆ ในหน้าสื่อก็ต้องมีการพูดถึงเรื่องนี้บ้าง

แต่สุดท้ายกระแสยูโร 2020 ในไทยกลับเงียบกริบ และคงมีแต่แฟนฟุตบอลจริง ๆ ที่รู้ข่าว

แล้วเพราะอะไรถึงเกิดเหตุการณ์นี้

เริ่มกันที่ประเด็นช่องถ่ายทอดสด

ถึงตอนนี้ยังไม่มีช่องทีวีดิจิทัล หรือธุรกิจใด ๆ ประกาศซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันนี้มาแพร่ภาพ

อาจเพราะช่วงนี้ธุรกิจสื่ออยู่ลำบาก และย้อนอดีตกลับไป 2 ครั้งก่อน ยูโร 2012 และ 2016 กลุ่มแกรมมี่ซื้อลิขสิทธิ์มาก็มีปัญหาทั้งจอดำ และการถูก กสทช เข้ามากำกับด้วยกฎต่าง ๆ จนทำเงินได้ไม่เต็มที่

ในเชิงธุรกิจจึงอาจไม่คุ้มที่จะลงทุนหลายร้อยล้านบาทเพื่อซิ้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ในไทยไม่คึกคักเหมือนครั้งก่อน ๆ ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ยูโร 2020 มาแพร่ภาพ

ต่อกันที่การส่งไปรษณียบัตรทายทีมแชมป์

ตอนนี้มันคงตกกระแสไปแล้วสำหรับวิธีการชิงโชครูปแบบนี้ เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เท่าที่เห็นมีกลุ่มมติชนที่เปิดให้ตัดชิ้นส่วนบนหนังสือพิมพ์เพื่อส่งชิงโชค รางวัลใหญ่ที่สุดคือ All New MG3

และคงไม่มีโอกาสได้เห็นการส่งไปรษณียบัตรกว่า 200 ล้านฉบับเหมือนที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 2018 แล้ว

เมื่อวิธีที่มันทำให้ทุกคนในบ้านมาตั้งใจทำอะไรด้วยกัน ลุ้นไปด้วยกันเหมือนในอดีตมันหายไป

อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่หลายคนไม่รู้ว่าฟุตบอลยูโร 2020 จะแข่งขันแล้ว

สุดท้ายคือกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค

ในอดีตแบรนด์น้ำดำ, น้ำสี เครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารการกินอื่น ๆ ล้วนเกาะกระแสฟุตบอลยูโรออกแคมเปญเพื่อปั๊มยอดขาย

แถมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการรับชมอย่างโทรทัศน์ก็คาดหวังยอดขายในช่วงเวลานี้เช่นกัน

แต่คราวนี้มันดูเงียบ ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

มีแต่เพียงแบรนด์สินค้าที่ตกลงเป็นสปอนเซอร์ให้กับฟุตบอลยูโร 2020 เช่น Hisense, Vivo และ TikTok ยิงสื่อเพื่อจุดกระแสนี้ให้ติด

แม้แต่ Coca-Cola หรือ Coke ที่ปกติไม่พลาดการเป็นสปอนเซอร์ให้กับการแข่งขันนี้ และต้องพ่วงด้วย Pepsi-Cola หรือ Pepsi ต้องโปรโมทเรื่องฟุตบอลสไตล์ Sport Marketing ก็ดูจะเงียบไป ไม่มีแคมเปญการตลาดใด ๆ ออกมา

อีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือ COVID-19

เพราะ COVID-19 เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลยูโร 2020 เลื่อนจากแข่งปีที่แล้วมาเป็นปีนี้

และ COVID-19 นี้เองก็กำลังระบาดในประเทศไทยอยู่ด้วย

ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็คงไม่มีอารมณ์ในการเสพสื่อบันเทิงประเภทกีฬาเหมือนช่วงเวลาปกติ

สู้เอาเวลาอดหลับอดนอนไปทำงานสร้างรายได้ หรือพักผ่อนเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงน่าจะดีกว่า

ที่น่าเห็นใจก็คงไม่พ้นแฟนฟุตบอลที่อยากดู เพราะคงได้แต่ลุ้นว่าจะมีใครซื้อลิขสิทธิ์มาฉายหรือไม่

จะให้รับชมฟรีเหมือนที่ Uefa เปิดให้รับชมการแข่งขัน Uefa Champions League ฤดูกาลล่าสุดที่ไม่มีใครในไทยซื้อลิขสิทธิ์มา

ทาง Uefa เขาอาจไม่ใจดีขนาดนั้น

ประเทศเพื่อบ้านทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังมีกลุ่มทุนทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ยูโร 2020

แม้แต่กัมพูชาที่ในยูโร 2016 ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดถูกดูแลโดยกลุ่มแกรมมี่ ครั้งนี้มีกลุ่มทุนอื่นซื้อลิขสิทธิ์มาฉาย

อีกทางออกหนึ่ง อาจเกิดกรณีเหมือนฟุตบอลโลก 2018 ที่รัฐบาลทหารไทยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนลงขันกันรวม 1,400 ล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสด ซึ่งได้ยินเสียงบ่นกันเบาๆ ว่าไม่คุ้มเงินที่จ่ายไป

เพราะการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติในไทยไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนในอดีตแล้ว

ดังนั้น ยูโร 2020 หนนี้ ต้องมารอดูกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา