ตลาดจักรยานยนต์ในไทยถูกครองโดยแบรนด์ญี่ปุ่นเบ็ดเสร็จ แต่ล่าสุดมี Startup ไทยที่ต้องการมีบทบาทในตลาดนี้ Startup รายนั้นคือ Etran ผู้ผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นลองมารู้จัก Startup รายนี้ให้มากขึ้นกัน
Etran กับระยะเวลาปั้นแบรนด์กว่า 6 ปี
จุดเริ่มต้นของ Etran เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อนโดย สรณัญช์ ชูฉัตร ที่ต้องการแก้ปัญหาการเดินทาง และยานพาหนะในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มจักรยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษ และส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อนั่งโดยสารคนเดียวมากกว่า มีส่วนน้อยที่ออกแบบมาเพื่อนั่งสองคน หรือเพื่อใช้ส่งพัสดุโดยเฉพาะ
ช่วงแรก สรณัญช์ นำมุมปัญหามลพิษ และการโดยสารมาต่อยอด จนปี 2017 ออกมาเป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทที่ไร้มลพิษ และแยกเบาะโดยสารจากเบาะผู้ขับขี่เพื่อให้นั่งได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ในปี 2019 ยังเปิดตัวจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 2 ที่เน้นเรื่องสมรรถนะ
ถึงช่วงนั้นบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพลังงานยักษ์ใหญ่ แต่ Etran ก็ยังไม่มีที่ยืนในตลาดจักรยานยนต์ไฟฟ้า และจักรยานยนต์แบบปกติ จนกระทั่งไม่กี่ปีจากนั้น ตลาดอีคอมเมิร์ซ และบริการส่งอาหารถึงบ้านเติบโตก้าวกระโดด สรณัญช์ จึงนำข้อผิดพลาด และโอกาสในตลาดใหม่มาพัฒนาจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อขนส่งพัสดุโดยเฉพาะ
ก้าวใหม่ของ Etran ที่รุกตลาดขนส่งพัสดุ
“ผมคิดว่าประเทศไทยรับผลิตเก่ง แต่ไม่ค่อยมีนวัตกรรมของตัวเอง ถ้ายังเป็นแบบนี้ ในอนาคตน่าจะลำบาก ผมอยากมีส่วนแก้ปัญหานี้ จึงทำ Etran ขึ้นมา พร้อมแนวคิด Drive The Better World เริ่มต้นด้วยจักรยานยนต์ไฟฟ้า และมันต้องตอบโจทย์ในมุมต่าง ๆ ของการขับขี่จักรยานยนต์ด้วย” สรณัญช์ เผย
จักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์การขนส่งพัสดุของ Etran ชื่อว่า Myra แปลว่า มดดำ คุณสมบัติเด่นคือ วิ่งเร็วสุด 120 กม./ชม. ระยะทางหลังจากชาร์จเต็ม 180 กม. พร้อมช่วงล่าง และฐานวางกล่องพัสดุด้านหลัง รองรับการขับขี่บนสภาพถนนของไทย ทั้งมาพร้อมสถานีสลับแบตเตอรี่เพื่อให้การขับขี่ทำได้ต่อเนื่อง ใช้เวลาใกล้เคียงการเติมน้ำมัน
ส่วนการผลิต Etran ร่วมมือกับ Summit Auto Body เพื่อผลิตโครงสร้างจักรยานยนต์ไฟฟ้า และ Pioneer Motor ช่วยผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทไทย เบื้องต้น Etran Myra จะมีคุณสมบัติใกล้เคียงจักรยานยนต์ที่มากับขนาดเครื่องยนต์ 125 ซีซี
แตกต่างด้วยการให้เช่าแทนขายขาด
การทำตลาดจักรยานยนต์ และจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเกือบทั้งหมดจะใช้การขายขาดให้กับผู้ซื้อ แต่ Etran เลือกเริ่มต้นด้วยการให้เช่า โดยคิดราคา 150 บาท/วัน เพราะจากการสำรวจพบว่า ผู้ทำอาชีพขับขี่จักรยานยนต์ขนส่งอาหาร และพัสดุจะมีต้นทุนเกี่ยวกับยานพาหนะ 200-300 บาท/วัน
“ใน 1 เดือน ผมคิดว่าอาชีพ Driver ส่งอาหาร ส่งพัสดุมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำคือ ค่าผ่อนจักรยานยนต์ 3,000 บาท, ค่าน้ำมัน 2,000 บาท และค่าบำรุงรักษา 1,000 บาท รวมกัน 6,000 บาท แต่การเช่า Etran Myra มีต้นทุน 4,500 บาท น่าจะตอบโจทย์อาชีพนี้ได้”
ล่าสุด Etran ประกาศความร่วมมือกับ Robinhood หนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหาร เพื่อเปิดให้ Driver ในระบบสามารถเช่าใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคา 120 บาท/วัน รวมค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่แล้ว และมีโปรโมชันเช่าครบ 900 วันสามารถซื้อเป็นของตัวเองได้ในราคา 1,000 บาท
เร่งขยาย Power Station ให้ครอบคลุม
ขณะเดียวกัน Etran ยังเร่งขยาย Power Station หรือจุดสลับแบตเตอรี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นมี 7 สถานีภายในปี 2021 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ และในปี 2022-23 จะเพิ่มเป็น 100 แห่ง โดยจะขยายไปในจังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติม และการขยายพื้นที่มีทั้งบริหารเอง กับการขายแฟรนไชส์
ส่วนการบำรุงรักษา ปัจจุบัน Etran มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่วงศ์สว่างเพียงแห่งเดียว แต่ด้วยจักรยานยนต์ไฟฟ้าทุกคนมีการเชื่อมต่อกับศูนย์กลาง ทำให้บริษัทสามารถเห็นจุดบกพร่องของจักรยานยนต์ไฟฟ้าเหล่านั้น และแจ้งให้เข้ามาซ่อมบำรุงได้ทันท่วงนี้ แต่จักรยานยนต์ไฟฟ้าแทบจะไม่มีของเหลวให้เปลี่ยน โอกาสการเข้ามาบำรุงรักษาจึงน้อยลงด้วย
เมื่อรวมปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น Etran จึงตั้งเป้ายอดขายจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่น Myra ในปีนี้ที่ 1,000 คัน เน้นหนักที่การขายให้กับองค์กร หรือ B2B โดยนอกจาก Robinhood ยังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ให้บริการส่งพัดสุ และอาหารรายอื่นเช่นกัน โดยเป้าในปี 2022 วางไว้ที่หลักหมื่นคัน และเพิ่มการทำตลาดกับผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น
จักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ขับเคลื่อนโดยจีน
หากเจาะไปที่ตลาดจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจุบันถูกขับเคลื่อนโดยแบรนด์จีน ทั้งแบรนด์เข้ามาทำตลาดเอง และแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย มีตั้งแต่ราคา 40,000 บาท ที่ประสิทธิภาพไม่สูงนัก 60,000-70,000 บาท ที่ประสิทธิภาพใช้ได้จริงบนท้องถนน สุดท้ายที่ 80,000-100,000 บาท ที่มาพร้อมการออกแบบที่ดีขึ้น
“ผมมองว่าตอนนี้มันน่าจะถึงเวลาเปลี่ยนไปใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า เพราะกระแส E-Commerce กับการส่งอาหารเติบโตต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปี หาก Driver เริ่มทำงานในเวลานั้นพอดี รถของเขาก็เสื่อมสภาพใน 5-6 ปีเช่นกัน ดังนั้นการเร่งทำตลาดจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อจูงใจในเวลานี้จึงเหมาะสม”
ในทางกลับกันการสนับสนุนของภาครัฐในจักรยานยนต์ไฟฟ้า เช่นการลงทุน, ภาษี และบริษัทพลังงานที่เริ่มจริงจังในเรื่องพลังงานสะอาด ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มเรียนรู้ในเทคโนโลยีใหม่ การเร่งทำตลาดของ Etran จึงจำเป็น มิฉะนั้นโอกาสจะในตลาดนี้จะตกไปอยู่กับแบรนด์ต่างชาติเช่นเดิม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา