สพธอ. ขอร่วมมือทุกหน่วยงานช่วยกำกับแพลตฟอร์มต่างชาติ เพิ่มความเป็นธรรมผู้ประกอบการชาวไทย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (ETDA) เตรียมร่วมมือกับทุกหน่วยงานกำกับแพลตฟอร์มจากต่างชาติ สร้างการแข่งขันอย่างเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการชาวไทย พร้อมเดินหน้าเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ถึง 30% ของดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ภายในปี 2027

สพธอ.

สพธอ. ขอร่วมกำกับแพลตฟอร์มต่างชาติ

ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. เล่าให้ฟังว่า ทางสำนักงานมีหน้าที่เป็นผู้กำกับกิจการ (Regulator) และผู้สนับสนุน (Promoter) ในกลุ่มธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นการกำกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยจึงเป็นอีกเรื่องที่เป็นหน้าที่

“เรื่องแพลตฟอร์มต่างประเทศ เราต้องแยกก่อนว่า ในไทยก็มีแพลตฟอร์ม และต่างชาติที่มีแพลตฟอร์มตัวเองก็เข้ามาทำธุรกิจในไทย ซึ่งในความเป็นธรรมเราก็ต้องมาดูว่า แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการคนไทยต้องมาอยู่ในไทยหรือไม่ ทำไมต้องมาอยู่ และเราบังคับอะไรพวกเขาได้หรือไม่”

ทั้งนี้ สพธอ. ย้ำว่าปัจจุบันมีบางเรื่องที่บังคับให้แพลตฟอร์มจากต่างชาติร่วมมือได้ แต่บางเรื่องยังทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามการเข้ามาจดทะเบียนบริษัทในไทยของแพลตฟอร์มเหล่านั้นมีปัจจัยบวกกับประเทศไทย เช่น ง่ายต่อการติดต่อ และใช้ระบบคำนวณภาษีของไทย เป็นต้น

อาศัย พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัล ดูแลความเป็นธรรม

ในฐานะหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม จึงมีการจัดทำ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562

พ.ร.ฎ. ดังกล่าว จะเข้ามามีส่วนช่วยกำกับกรณีที่แพลตฟอร์มเหล่านั้นไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ส่วนกรณีการกีดกันทางการค้า จะมีการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งจะมีการรับฟังความเห็นช่วงเดือน ต.ค. 2024

“เรื่องการกีดกันทางการค้าเราต้องมาดูว่าแบบไหนถึงมีอำนาจเหนือตลาด และสิ่งเหล่านั้นต้องพิสูจน์ได้ว่ามีอำนาจเหนือจริง ๆ ไม่เช่นนั้นการบังคับใช้ก็จะลำบาก ดังนั้นการร่วมมือกับ กขค. (สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) รวมถึงหน่วยงานเรื่องมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐาน”

แพลตฟอร์มคงร่วมมือลำบากถ้ามองมุมธุรกิจ

ชัยชนะ เสริมว่า ถ้ามองในมุมการทำธุรกิจ แพลตฟอร์มเหล่านั้นอาจแสดงความเห็นในมุมไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แพลตฟอร์มเหล่านั้นในการทำธุรกิจในประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรยังต้องการให้แพลตฟอร์มเหล่านั้นมาจดบริษัทในประเทศไทย เพื่อความง่ายในการกำกับ และเข้าถึงโดยผู้บริโภค

“ในมุมการกำกับ เราจะเริ่มจากการกรองผู้เล่นตัวใหญ่ก่อนเพื่อบ่งบอกเรื่องความเสี่ยง และจากนั้นจะดูว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวมีหน้าที่อะไร จากนั้นค่อยมาดูเรื่องการจำหน่ายสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานต่าง ๆ ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะตอนนี้มาตรฐานต่าง ๆ ไม่สามารถไปกำกับอะไรแพลตฟอร์มที่จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ได้เลย”

แนวคิดหลักในการกำกับกิจการแพลตฟอร์มมาจากการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ไม่มีการได้ หรือเสียเปรียบในการทำตลาดบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่ในเบื้องต้น สพธอ. มีการร่วมมือกับชุมชนต่าง ๆ ในการสร้างโค้ชชุมชนที่เชี่ยวชาญเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นได้

มีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ 30% ของ GDP

ทั้งนี้ 14 ปีที่ผ่านมา สพธอ. ได้รับบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ มีเป้าหมายใหญ่ในการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ถึง 30% ของ GDP ภายในปี 2027 และยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยขึ้นสู่ 30 อันดับแรกของโลก โดยในปี 2025 มี 4 โจทย์ใหญ่ที่ สพธอ. จะทำคือ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Infrastructure & Ecosystem): สพธอ. มุ่งสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านการพัฒนา Digital ID ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พร้อมทั้งสนับสนุนการเชื่อมต่อบริการภาครัฐผ่านออนไลน์ให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมออนไลน์

การกำกับดูแลบริการดิจิทัล (Digital Service Governance): สพธอ. จะเสริมสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเน้นการออกแนวปฏิบัติที่เป็น Best Practices เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulation) และลดปัญหา Online Fraud ผ่านการบังคับใช้กฎหมายลูก 9 ฉบับ

การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Adoption & Transformation): สพธอ. จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการผลิต การค้า และการบริการ ผ่านการส่งเสริมการใช้ Digital ID และการสนับสนุน SMEs ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

การพัฒนาแรงงานและการป้องกันภัยออนไลน์ (Digital Workforce, Literacy & Protection): สพธอ. มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัลให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยตั้งเป้าฝึกอบรมแรงงานดิจิทัลเฉพาะด้านกว่า 90,000 คนภายในปี 2570 พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทันในกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการทางการได้ยิน และกระจายความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา