รายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q3 2566 เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ต้องเจอความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ปี และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้คนหาบ้านเลือกชะลอแผนซื้อบ้านหรือใช้เวลาตัดสินใจนานขึ้น เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนในอนาคต
ทั้งนี้ จากรายงานดังกล่าวซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty พบว่าเผย ภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน (QoQ) แต่ยังลดลง 6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยเป็นการปรับลดลงถึง 10% จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ไตรมาส 2 ปี 2562) สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในระยะยาวยังคงไม่ฟื้นตัวดีดังเดิม
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น (ราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง และค่าแรง) แม้ความต้องการซื้อยังคงชะลอตัว โดยปรับลดลง 4%QoQ ในไตรมาสล่าสุด และลดลง 32%YoY สวนทางตลาดเช่าที่มีแนวโน้มเติบโตโดยดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นทั้งที่อยู่อาศัยแนวสูงและแนวราบ โดยคอนโดและอพาร์ตเมนต์มีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 3%QoQ และเพิ่มขึ้น 4%YoY ส่วนแนวราบยังเพิ่มขึ้น 8%QoQ
(หากเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 มีเพียงดัชนีค่าเช่าบ้านแนวราบที่ยังเป็นบวก)
ขณะที่ความต้องการเช่าในกรุงเทพเพิ่มขึ้นถึง 13%QoQ สะท้อนให้เห็นเทรนด์ที่อยู่อาศัยยุคนี้ที่ผู้บริโภคเน้นเช่ามากกว่าซื้อ ตามเทรนด์ Generation Rent ที่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดอสังหาฯ เช่นกัน แต่ด้วยความไม่พร้อมทางการเงิน จึงไม่อยากมีภาระผูกพันระยะยาวจากการเป็นหนี้จากการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย จึงเลือกการเช่าที่มีความยืดหยุ่นและประหยัดรายจ่ายมากกว่าแทน
อย่างไรก็ตามแม้ว่า ความต้องการเช่าในกรุงเทพจะเพิ่มขึ้น 13%QoQ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าพบว่า ยังปรับตัวลดลง 30%YoY ส่วนหนึ่งอาจเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้
วิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้มีสัญญาณเติบโต แต่ไม่หวือหวาอย่างที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัว และผู้บริโภคกังวลต่อดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ที่กำลังผ่อนบ้านก็มีภาระเพิ่มขึ้นและต้องใช้ระยะเวลาผ่อนชำระนานขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ผันผวนได้เสมอ
“ภาพรวมดัชนีราคาในตลาดอสังหาฯ ไตรมาสล่าสุดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาดในทุกประเภทที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับความต้องการซื้อที่ลดลง”
ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจกระทบต่อตลาดอสังหาไทยและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
- สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนที่กระทบความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและนักลงทุน แต่คาดว่าจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยผ่านความไม่แน่นอนทางการเมืองมานานหลายทศวรรษ
- วิกฤติอสังหาฯ ในประเทศจีนจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีนมากน้อยเพียงใด
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนอาจฟื้นกลับมาหากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นแะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน
- หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการซื้อ-ขายในตลาดอสังหาฯ ออกมา ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กลุ่ม Real Demand สามารถเข้าถึงสินเชื่อและเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ช่วยขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ ให้กลับมาโตอย่างคึกคักอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้
ที่มา – DDproperty
อ่านเพิ่มเติม
- REIC เผยไตรมาส 2/2023 ดัชนีราคาที่ดินเปล่า ในกรุงเทพฯ เพิ่ม 6.2% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อน COVID-19
- มือใหม่เริ่มต้นลงทุนอสังหาริมทรัพย์ มีวิธีเลือกลงทุนอย่างไรบ้าง ?
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา