มองโอกาส E-Sport ผ่านสายตาผู้จัดการทีม Diamond Cobra ที่ติดธงไทยไปแข่ง RoV ในเอเชียนเกมส์

E-Sport ในบ้านเราเรียกว่าบูมมากจริงๆ ทำให้คนที่ไม่เคยเข้ามาในวงการนี้มาก่อนอยากมีส่วนร่วมบ้าง แต่กับคนที่เข้ามาแจมได้ไม่นานอย่าง “ศตวรรษ อินทรายุธ” ผู้จัดการทีม Diamond Cobra กลับบอกว่ามันไม่ง่ายเลย

ศตวรรษ อินทรายุธ ผู้จัดการทีม Diamond Cobra

เข้ามามีส่วนร่วมแบบไม่ได้ตั้งใจเท่าไร

ถ้าพูดถึงชื่อ Diamond Cobra คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าเป็นคนที่เล่นเกม RoV หรือ Realm of Valor อยู่เป็นประจำก็น่าจะรู้จักดี เพราะชื่อนี้คือทีมที่คว้าแชมป์ในรายการ King of Gamers ที่แพร่ภาพทางช่อง PPTV และได้เงินรางวัลไป 1 ล้านบาท เมื่อเดือนเม.ย. แถมยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ E-Sport ของบ้านเราด้วย

“ศตวรรษ” เล่าให้ฟังว่า ด้วย Diamond Cobra เป็นทีมใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการรวม 5 คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนมาแข่งเกม RoV กัน และเมื่อพวกเขาได้แชมป์ มันก็ได้สิทธิ์เข้าไปแข่งในรายการ Pro League ก็ทำให้จากทีมที่เป็นมือสมัครเล่น ก็ต้องปรับรูปแบบมาเป็นมืออาชีพโดยอัตโนมัติ ซึ่งมันก็ยากในช่วงแรก

ทีม Diamond Cobra // ภาพจาก Facebook ของ Diamond Cobra

“ด้วยผมชอบเล่นเกม และทำงานอยู่กันตนาซึ่งตอนนั้นทางบริษัทได้ทำรายการ King of Gamers ออกมา ผมเลยเข้ามาช่วยดูเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องเทคนิค และการเก็บภาพ แต่พอพวกเขาชนะ ก็เป็นผมที่เข้ามาดูแลทีมนี้ในฐานะผู้จัดการทีม และต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทีมให้มันดียิ่งขึ้น”

ลงเงินเป็นหลักล้าน-ดึงมืออาชีพเข้าทีม

เมื่อ Diamond Cobra ได้แชมป์ ทางผู้เล่นในทีมก็ต้องเซ็นสัญญากับ “กันตนา” เหมือนกับรายการแข่งขันอื่นๆ ที่บริษัทนี้จัดขึ้น เช่น The Face ทำให้ยักษ์ใหญ่วงการบันเทิงไทยต้องลงทุนหลายล้านบาทต่อปีในการสร้างทีมนี้ให้ดี และเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อม รวมถึงการเอาผู้เล่นอาชีพจากทีมอื่นๆ เข้ามาพัฒนาทีม

ศตวรรษ อินทรายุธ ผู้จัดการทีม Diamond Cobra

“พอ Pro League อย่างน้อยๆ นักกีฬาก็ต้องได้ค่าเหนื่อยอย่างน้อย 50,000 บาท/เดือน แต่ถึงฝีมือนักกีฬาทีมนี้จะเก่งประมาณหนึ่ง ด้วยความที่พวกเขาไม่เคยเป็นมืออาชีพมาก่อน มันจึงต้องดึงคนที่มีประสบการณ์มาช่วย และเราก็ได้มา 2 คน ก็ทำให้ทีมนี้ที่มีนักกีฬา 5 คน คนเดิมก็ต้องตกเป็นตัวสำรอง และต้องปรับความเข้าใจประมาณหนึ่ง”

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก Pro League ก็อยากให้นึกถึงการแข่งขันฟุตบอลที่มีตั้งแต่ระดับมือสมัครเล่น หรือ Amateur, กึ่งสมัครเล่น หรือ Semi-Pro และมืออาชีพ หรือ Pro ที่มีการสนับสนุนจากหลายฝ่ายชัดเจน รวมถึงมีเงินรางวัล และโอกาสไปแข่งขันชิงชนะเลิศในระดับประเทศ ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องยกระดับทีมให้มากกว่าแค่เด็กติดเกม

พลาดชิงแชมป์โลก แต่ได้ไปเอเชียนเกมส์

ถึงจะเป็นทีมหน้าใหม่ แต่ Diamond Cobra ก็สามารถทะลุไปได้ถึงรอบ 8 ทีมในการคัดตัวเพื่อหาทีมตัวแทนประเทศไทยไปแข่งชิงแชมป์โลก RoV ที่ผู้ให้บริการเกมอย่าง Tencent เป็นผู้จัดขึ้น แต่ถึงจะพลาด ตัวทีมเองก็สามารถเอาชนะรอบคัดตัวหาตัวแทนประเทศไปแข่งเอเชียนเกมส์ได้

“ด้วยตัวกฎเกณฑ์การแข่งขัน E-Sport ในเอเชียนเกมส์มันประกาศมาช้ามาก ทำให้หลายประเทศต้องเร่งคัดตัว ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้ทางผู้คัดเลือกจึงเอาทีม Top 8 ของรอบคัดเลือก RoV ชิงแชมป์โลกไปคัด ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นเราที่ได้เป็นตัวแทนประเทศ และคาดหวังขั้นต่ำคือเหรียญทองแดง”

เกม RoV

และแม้การแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ E-Sport จะเป็นเพียงกีฬาสาธิต และไม่ได้นับเหรียญที่ได้ไปรวมกับกีฬาหลัก แต่การได้เข้าไปมีส่วนร่วมก็ถือเป็นสัญญาณดีของอุตสาหกรรมเกม เพราะช่วยทำให้หลายคนเข้าใจว่าเกมคือกีฬา และช่วงส่งเสริมให้แบรนด์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตฯ นี้ มองเห็นว่ามันคืออีกโอกาสในการตลาดหากเข้ามาสนับสนุน

เงินรางวัลยังไม่ชดเชยรายจ่ายทั้งหมดได้

“ต้องบอกก่อนว่าเงินรางวัลจากการแข่งขันในประเทศมันไม่ได้เยอะ เต็มที่ก็ 3-5 ล้านบาท ซึ่งมัน Cover ค่าใช้จ่ายของคนทำทีม E-Sport ทั้ง RoV และเกมอื่นๆ ไม่ได้ ดังนั้นการหาสปอนเซอร์เข้ามามันก็จำเป็น แต่ด้วยเราเป็นทีมเกมมือถือ ก็แทบจะตัดกลุ่ม Gaming Gear ออกไปได้เลย ทำให้มันยากกว่าในการหาผู้สนับสนุนจริง”

รายการ ESL หนึ่งในการแข่งขัน E-Sport ที่ใหญ่ที่สุด

ดังนั้นนอกจาก “กันตนา” ที่เป็นผู้ลงทุนทีม Diamond Cobra ก็ยังอยู่ระหว่างเจรจาสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน ส่วนเรื่องภาครัฐที่เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับจากเกมเป็นกีฬา และอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมไทยอีสปอร์ตขึ้น ก็ช่วยให้ภาพลักษณ์ของ E-Sport ในไทยนั้นดีกว่าเดิม แถมช่วยสื่อให้แบรนด์สินค้า และบริการอื่นๆ เข้าใจมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่ E-Sport นั้นมีผู้ให้บริการเกมเป็นเบื้องหลัง ซึ่งแตกต่างกับกีฬาชนิดอื่นๆ ทำให้ภาครัฐต้องวางสมดุลให้ดี ไม่ใช่เข้ามาตีกรอบกฎกติกาในการทำให้มันเติบโตทั้งหมด เพราะบริษัทเอกชนนั้นเข้าใจดีอยู่แล้วว่าการทำให้มันเติบโตไปมากกว่านี้ต้องทำอย่างไร ผ่านประสบการณ์ที่พวกเขาสร้างที่ตรงนี้มาเองทั้งหมด

สรุป

ต้องบอกว่า E-Sport เติบโตไปไกลกว่าที่ใครๆ คิดไว้มาก เพราะปัจจุบันนั้นแข่งขันชิงรางวัลกันหลายล้านบาท แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ นักกีฬาของไทยก็ต้องพัฒนาให้มากกว่าแค่คนเล่นเกมด้วย เพราะเรื่องมารยาท และความสม่ำเสมอ รวมถึงทีมเวิร์คมันไม่สามารถสอนกันได้ง่ายๆ เหมือนการฝึก Skill ซึ่งหากเอาชนะจุดนั้นได้ การพัฒนาทีม และต่อยอดไปสู่ความเป็นมือาชีพที่สร้างรายได้ให้ตัวเองด้วยการเล่นเกมก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา