เมื่อได้ยินคำว่า Epson หลายๆ คนต่างนึกถึงแบรนด์ที่ผลิตแต่พรินเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้ว Epson ทำหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โปรเจคเตอร์ หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่เมื่อทิศทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สินค้าต่างๆ จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีความคุ้มค่ากับผู้บริโภค Epson จึงมองเป็นโอกาสที่ดี ที่ในปี 2019 เป็นปีที่ปรับเปลี่ยนรอบวงจรธุรกิจใหม่ ที่จะนำกลุ่ม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก สร้างรายได้ต่อเนื่องจากนี้ไปอีก 5 ปี
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2019 เป็นปีรอบวงจรธุรกิจใหม่ของ Epson ที่จะเน้นการนำ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ไม่ว่าจะเป็น อิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูง, พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม, เลเซอร์โปรเจคเตอร์ และหุ่นยนต์แขนกล ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เป็นช่วงที่ได้ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่พอดี สอดรับกับการฐานลูกค้าใหม่ๆ ทั้ง SOHO, SME หรือโรงงานขนาดเล็กที่ต้องการสินค้าไปใช้ในธุรกิจด้วยราคาที่คุ้มค่าในการลงทุน และสามารถทดแทนกับสินค้าที่มีอยู่ในตลาดได้ในระยะยาว
“ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้หลายๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆ สามารถทดแทนสินค้าเดิม ด้วยการลงทุนที่คุ้มค่าและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้สินค้าเดิม รวมถึงมีความต่อเนื่องในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่และทำตลาดเพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ๆ มากขึ้น”
S-Curve ใหม่ของ Epson ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลักอีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย
ถึงแม้ว่าตลาดไอทีโดยรวมของประเทศในปีที่ผ่านมาจะมีอัตราการเติบโตถดถอยลงอยู่ที่ -3% แต่ Epson ยังเติบโตอยู่ที่ 5% และคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณของบริษัทฯ (31 มีนาคม 2019) ผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 10% ซึ่งมีโปรเจคเตอร์ความสว่างสูงเป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุด เนื่องจากเข้าสู่การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีจาก High Brightness Projector เป็น Laser Projector ขณะที่พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจะเติบโตขึ้น 6% ส่วนกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์จะขยายตัวขึ้น 5% โดยมาจากพรินเตอร์แท็งค์แท้ หรือ EcoTank เป็นหลัก
ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้ เอปสัน ประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่เฟสใหม่ของวงจรธุรกิจ หรือ S-Curve ใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี ในช่วงแรกของการสร้าง S-Curve ใหม่ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 5% สำหรับประเทศไทย และ 10% โดยจะเน้นที่การสร้างตลาดและขยายฐานลูกค้าให้กับ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญของบริษัทฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง มีแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว และเป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มลูกค้า องค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรม
ปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ ยังส่งผลกระทบ
Epson ได้ประเมินเรื่องของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่จะมีผลต่อยอดขายทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในประเทศ ที่ยังคาดเดาไม่ได้, ความต้องการสินค้า IT ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคู่แข่งพยายามลดราคาสินค้า เพื่อจูงใจผู้บริโภค หรือปัจจัยภายนอก อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐจีนและเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเกิดความผันผวน
ส่วนปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของธุรกิจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของรัฐบาล ความต้องการสินค้า IT ในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีเทคโนโลยีที่ใหม่ๆ ที่คุ้มค้ามากกว่าการใช้สินค้าเก่า รวมไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น
มุ่งสู่การทดแทนสินค้าเดิมใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่
สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทาง Epson เข้ามาทำตลาด ทั้งกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูง ที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ SME, SOHO ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าไปแทนที่การใช้งานเลเซอร์พรินเตอร์ ซึ่งอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูงของ Epson ในปัจจุบันถูกพัฒนาให้ก้าว ข้ามเลเซอร์พรินเตอร์ไปแล้ว ทั้งด้านคุณภาพงานพิมพ์ การใช้พลังงานที่น้อยกว่า การดูแลรักษาที่ง่ายและ ประหยัดกว่า ที่สำคัญต้นทุนต่อแผ่นต่ำกว่า 10 สตางค์
กลุ่มพรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่อีกหลายรุ่น ทั้งในกลุ่มโฟโต้ มินิแล็บ อุตสาหกรรมสิ่งทอ หรืองานพิมพ์ป้ายโฆษณาทั้ง ภายในและภายนอกอาคาร และเพิ่มเติมในส่วนของเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรมความเร็วสูง ที่สามารถพิมพ์ตรงลงบนผ้าม้วนได้ (Direct to Fabric หรือ DTF) ซึ่งเป็น เครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัลที่รองรับการพิมพ์แบบออนดีมานด์
ในขณะที่กลุ่มเลเซอร์โปรเจคเตอร์ เราตอกย้ำการเป็นที่หนึ่งด้วยการเปิดตัว เลเซอร์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง 20,000 ลูเมน และเลเซอร์โปรเจคเตอร์ ความละเอียดระดับ 4K ที่ให้ความคมชัด และอายุการใช้งานมากถึง 20,000 ชั่วโมง
และสุดท้าย หุ่นยนต์แขนกล ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำเข้ามาจะมีราคาถูกลงถึง 35% ซึ่งทำให้ราคาลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท เพื่อรองรับตลาดการศึกษาและเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กสามารถนำหุ่นยนต์แขนกลเข้าไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดต้นทุน ซึ่งหากผู้ประกอบการรายเล็กไม่ปรับตัว อาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตจะไม่สามารถลดต่ำกว่าคู่แข่งได้ ส่งผลทำให้เกิดการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้
จังหวะที่ดีในการสร้าง S-Curve ใหม่
“การสร้าง S-Curve ใหม่ทางธุรกิจในปีนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีของบริษัทฯ เพราะ Epson มีผลิตภัณฑ์ครบทุกไลน์ และมีจำนวนรุ่นมากเพียงพอที่จะทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง Epson ยังเป็นบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเอง จึงสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในแต่ละด้านให้ทันสมัย ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่มใน S-Curve ใหม่นี้ล้วนแต่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยและได้รับ ความมั่นใจจากลูกค้าในหลากหลายวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยอยู่แล้ว Epson ประเทศไทยจึงเชื่อมั่นว่า S-Curve ใหม่นี้จะไม่เพียงแต่จะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีได้ แต่ยังจะทำให้มิติทาง ธุรกิจและแบรนด์ของ Epson ในประเทศไทยกว้างออกไป และเติบโตมากยิ่งขึ้นด้วย”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา