เมื่อสิบปีก่อน EPSON เคย Distrupted ตัวเองและวงการพรินเตอร์จากเทคโนโลยีอิงค์เจ็ทมาสู่ระบบแท็งค์ ซึ่งเวลานั้น ผู้บริโภคนิยมเอาพรินเตอร์อิงค์เจ็ทไปติดตั้งแท็งค์เอง มาปัจจุบัน EPSON ได้ประกาศ Disrupted อีกครั้งด้วยการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นแบบให้บริการเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างการเติบโต 10% ในปีที่ไม่ง่ายกับสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจการเมือง
ปี 63 กระทบไม่มาก ปี 64 เตรียมฟื้นตัว
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เศรษฐกิจของประเทศ GDP ติดลบ -6.1% ส่งผลกระทบการอุปโภคบริโภคและภาคธุรกิจไม่น้อย แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสอยู่ เช่น ต้นทุนที่ลดลงจากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล การขายออนไลน์ ซึ่งสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้กับเอปสัน เช่น การพิมพ์ฉลากสี การรับจ้างพิมพ์ภาพ ซึ่งทำให้ยอดขายของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ปี 63 กลุ่มสินค้าที่ยังไปได้ดี เช่น หุ่นยนต์แขนกล พรินเตอร์ฉลาก พรินเตอร์อเนกประสงค์ ขณะที่ธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสารอิงค์เจ็ท และพรินเตอร์สำหรับธุรกิจมินิแล็บ ขณะที่พรินเตอร์ใบเสร็จ โปรเจคเตอร์ และพรินเตอร์ดอทเมทริกซ์ ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจ สถาบันศึกษา โรงแรม และธุรกิจค้าปลีก มียอดขายลดลง เพราะลูกค้าต้องหยุดกิจการหรืองดให้บริการชั่วคราว ในส่วนตลาดอิงค์แท็งค์พรินเตอร์ เอปสันยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ 43% ซึ่งทำยอดขายจากช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 เช่นเดียวกับตลาดโปรเจคเตอร์ที่ยังคงรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งตลาด 33% ในขณะที่ตลาดโดยรวมหดตัวลง 22%
บุกธุรกิจบริการเต็มรูปแบบ ลุยตลาด B2B
ปี 64 เอปสันเตรียมความพร้อมด้วยกลยุทธ์เพื่อรุกตลาด B2B จากการลงทุนของภาครัฐ ที่จะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง สถาบันศึกษากลับมาเปิดทำการ โดยภายหลังได้ปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในองค์กร พัฒนาศักยภาพของเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย และเพิ่มคุณค่าในส่วนต่างๆ ซึ่งช่วยยกระดับความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า โดยตั้งเป้าว่าบริษัทฯ จะกลับมาเติบโตได้ในระดับที่มากกว่า 10% ในปีนี้
เอปสันมีการจัดโครงสร้างภายในองค์กร ขยายทีมขาย B2B ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมถึงทีมพิเศษที่เน้นเจาะตลาดและดูแลลูกค้าองค์กรญี่ปุ่นโดยเฉพาะ พัฒนาตัวแทนจำหน่าย เอปสันมีการเพิ่มจำนวนตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตลาด B2B และได้ฝึกอบรมตัวแทนเดิมให้สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาด B2B ได้
“ปีที่แล้ว เอปสันได้ทดลองเปิด ‘Epson EasyCare 360’ บริการเช่าเครื่องพรินเตอร์แบบรายแพคเก็จสำหรับลูกค้า Epson WorkForce ที่ต้องพิมพ์งานปริมาณมากอยู่เป็นประจำ เพื่อแข่งขันกับบริการของแบรนด์เครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนการพิมพ์ของตัวเองได้ ไม่ต้องสต๊อกหมึก เพราะบริษัทฯ จะส่งหมึกให้โดยคำนวณค่าใช้จ่ายจากจำนวนพิมพ์รายแผ่น ทั้งยังมีบริการ On-site service ส่งช่างซ่อมไปถึงออฟฟิศ นอกจากนี้ ยังมีบริการ ‘Epson EasyCare Mono’ เพื่อกลุ่มลูกค้า Epson EcoTank M-series ให้สามารถเช่าเครื่องพร้อมหมึกแบบเหมาจ่ายรายเดือน และรับทันทีทั้งบริการติดตั้งพรินเตอร์ให้ถึงออฟฟิศ บริการจัดอบรมการใช้งาน และบริการแก้ปัญหาเบื้องต้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทั้งสองบริการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เอปสันจึงเดินหน้าแผนดิสรัปท์โมเดลธุรกิจกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ทั้งหมด จากที่เคยเน้นการขายเครื่องมาเป็นการบริการงานพิมพ์”
จากการสำรวจรองค์กรธุรกิจ พบว่าสิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่กังวลคือค่าพิมพ์สีต่อแผ่น ตามด้วยคุณภาพงานพิมพ์ และบริการซ่อมบำรุง เอปสันจึงได้ออกบริการเช่าเครื่องแบบใหม่ในชื่อ Epson EasyCare 360 เหมา เหมา โดยลูกค้าสามารถพิมพ์สีหรือขาวดำก็ได้ มากสุดถึง 120,000 แผ่น หรือนาน 24 เดือน ทั้งยังได้บริการซ่อมบำรุงถึงที่ และเบอร์โทรสายตรงตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ มีค่าบริการรายเดือนเริ่มต้น 790 บาท แถมยังจะได้รับเครื่องที่ใช้อยู่ไปฟรีๆ หลังหมดสัญญา
นอกจากนี้ยังมี Epson Virtual Solutions Center เพื่อให้ลูกค้า B2B ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และปากีสถาน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเอปสัน ประเทศไทย ได้สัมผัสกับประสบการณ์เสมือนจริงระหว่างการทำความรู้จักกับเทคโนโลยีและ B2B โซลูชั่นของเอปสัน ซึ่งจะแบ่งออกตามประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน การพิมพ์ดิจิทัล ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา สาธารณสุข และองค์กรธุรกิจ และในเฟสถัดไปจะมีการเพิ่มเติมโซนพิเศษสำหรับลูกค้าโฮมยูสทั่วไปให้ สามารถมาชมสินค้าและพูดคุยกับพนักงานขายทางออนไลน์ได้ทันที โดยได้รับบริการทุกอย่างเหมือนอยู่หน้าร้าน โดยในเฟสแรก Epson Virtual Solutions Center นี้ จะเปิดให้บริการในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
สรุป
เมื่อโมเดลธุรกิจปกติไม่มีการเติบโต ก็ต้องปรับโมเดลใหม่ EPSON ขายเครื่องพรินเตอร์มานาน เริ่มขยับไปเครื่องพิมพ์อื่นๆ ที่หลากหลาย จนโมเดลขายอาจจะไปต่อไม่ได้ในบางตลาด โดยเฉพาะตลาดผู้ใช้งานองค์กร การปรับมาทำโมเดลแบบให้บริการ จ่ายเงินเท่าที่ใช้ น่าจะช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา